กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76 – 81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 - 21 ก.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะเผชิญกับแรงขาย หลังถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คาดจะกดดันต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกของเวเนซุเอลาและอิหร่านที่ปรับลดลงเป็นปัจจัยหนุนราคา หลังหลายประเทศปรับลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนที่สหรัฐฯ จะเริ่มคว่ำบาตรในวันที่ 4 พ.ย. 61 นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นคงกำลังการกลั่นในระดับสูงและสหรัฐฯ ลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน คาดจะส่งผลกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุดสหรัฐฯ เตรียมเจรจากับจีนเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ ก่อนที่จะมีการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ แต่นักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่คาดทั้งสองประเทศจะยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเร็วๆนี้ ส่งผลให้มีการปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าลง
- ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังประเทศต่างๆ ได้ทยอยปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลงก่อนที่จะมีการประกาศคว่ำบาตรในวันที่ 4 พ.ย.61 โดยจากผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ส พบว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบปีนับตั้งแต่ เม.ย. 60 ที่ระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังเกาหลีใต้หยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ขณะที่ญี่ปุ่นและอินเดียเริ่มทยอยปรับลดการนำเข้าลง ส่งผลให้อิหร่านเริ่มทยอยเก็บน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในเรือขนส่งน้ำมันดิบรวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 2.4 ล้านบาร์เรล
- การส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาคาดจะยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกันบริเวณท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบหลักของประเทศในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องหยุดซ่อมบำรุงท่าเรือดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาในเดือนที่ผ่านมาปรับลดลงกว่าร้อยละ 8 จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน หลังคาดโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึง ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 61 ปรับตัวลดลงถึง 5.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ราว 396.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการยูโรโซน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 - 14 ก.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 5.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบอิหร่านเริ่มปรับตัวลดลงหลังมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือน พ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึง พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ที่คาดว่าจะพัดเข้าบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ภายในวันศุกร์ที่ 14 ก.ย.นี้