กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สสส.
ผลโพลเยาวชนช่วงบอลโลกพบกว่าร้อยละ 22 เห็นโฆษณาพนันบอลทุกครั้งที่เล่นเน็ต ร้อยละ 48 เรียนรู้การเล่นพนันด้วยตนเอง เครือข่ายเยาวชนชี้จุดอ่อนเรื่องโฆษณาพนันทางสื่อออนไลน์ยังขาดกฎหมายที่ชัดเจนและการกำกับดูแลที่เข้มแข็งต่างจากเหล้า-บุหรี่ วอนหน่วยงานรัฐดูแลจริงจังเพราะมีผลกระทบมากมาย ด้านสภาเด็กฯ เตรียมผลักดันการรณรงค์ขับเคลื่อนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีเสวนาเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ หัวข้อ "เยาวชน 4.0 รู้เท่าทันพนันบอลออนไลน์?" ว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) และโครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของวัยรุ่นและเยาวชนจำนวน 2,525 รายทั่วประเทศ เกี่ยวกับการพนันทายผลฟุตบอลออนไลน์ ทั้งในช่วงก่อนและหลังการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 โดยพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 57 เล่นอินเตอร์เน็ตวันละมากกว่า 5 ชั่วโมง ร้อยละ 22 พบเห็นโฆษณาพนันทุกครั้งที่ออนไลน์ ร้อยละ 18 เคยเข้าไปดูโฆษณาพนัน โดยร้อยละ 54 ระบุว่าสาเหตุที่เข้าไปเล่นเพราะแค่เล่นขำๆ ร้อยละ 48 เรียนรู้การเล่นพนันด้วยตนเอง และร้อยละ52 คิดว่าการพนันบอลเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กและเยาวชน
"ช่องทางออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้เด็กและเยาวชนเล่นพนันได้ง่าย การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการพนันออนไลน์กลายเป็นปัญหาต่อการติดตามจับกุม ทั้งยังเกี่ยวพันกับปัญหาอาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ สสส. จึงมุ่งเน้นการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันอย่างเต็มที่โดยขยายความร่วมมือและทำงานกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน"
ทั้งนี้ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มุ่งตอบสนองเป้าประสงค์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นการดำเนินงานให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนน ด้านการจัดการภัยพิบัติ และด้านการลดปัญหาจากการพนัน ซึ่งหากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน จะร่วมกับยูรีพอร์ต ประเทศไทย ในการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายต่อไป
นายคงเดช กี่สุขพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ (ดิจิทัล) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "โครงการยูรีพอร์ต มีความยินดีที่ได้สร้างความร่วมมือระยะยาวกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ในการปรับใช้โพลสำรวจและกิจกรรมของยูรีพอร์ต เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและพฤติกรรมของเยาวชนต่อปัจจัยเสี่ยงทางสังคมต่างๆ พร้อมส่งเสริมสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของวัยรุ่นและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของยูรีพอร์ต เราคาดหวังว่าความร่วมมือนี้ จะทำให้วัยรุ่นและเยาวชนได้เข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนานโยบายและโครงการด้านปัจจัยเสี่ยงทางสังคมในประเทศไทยมากขึ้น"
ด้าน นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) กล่าวว่า ฟุตบอลโลกครั้งนี้ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่า โลก 4.0 ได้นำพาการพนันมาหาเด็กและเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่การพนันในช่องทางเดิมๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะการพนันออนไลน์มี 4 ด้านที่อันตรายครบถ้วน ทั้ง "ง่าย กระตุ้น ลุ้นถี่ และมีเดิมพันสูง" คือ เข้าถึงได้ง่าย, กระตุ้นและปลุกเร้าด้วยสิ่งเย้ายวนหลากหลายรูปแบบ
ทั้งการโฆษณาเชิญชวนด้วยพริตตี้ เน็ตไอดอล รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ, เปิดโอกาสให้เล่นพนันได้ถี่ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และวางกับดักให้เดิมพันในปริมาณเงินที่มาก ยิ่งเล่นนานยิ่งลงเดิมพันมาก
ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมที่การสื่อสารมาเร็วไปเร็วอย่างนี้มีโปรแกรม "คุ้มกัน" ที่ติดตั้งไว้ในตัวเอง เพราะไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะคัดกรองสิ่งคุกคามที่มาทางออนไลน์ได้อย่าง 100% เรื่องที่ต้องเร่งช่วยกันทำคือการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนและครอบครัวเกิดการ "รู้ทัน" และคุ้มกันตัวเองได้
ในขณะที่ นายธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ยุค 4.0 ตื่นตัวกับการลดปัญหาจากการพนันบอลออนไลน์อย่างมาก โดยช่วงฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สร้างสรรค์และจัดทำสื่อรณรงค์หลายรูปแบบ เช่น หนังสั้น 5 เรื่องจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และสามารถขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ศรีสะเกษประสบความสำเร็จในการจัดทำ MOU กับหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนัน และมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินงานเช่นนี้ในจังหวัดอื่นๆ โดยได้กำหนดในแผนงานของแต่ละพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ให้จัดกิจกรรมผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นในปี 2562 มุ่งเน้นให้เครือข่ายเป็นพลังขับเคลื่อนในมิติการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ให้ความสำคัญและสั่งการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเด็กและเยาวชนจากการพนันทุกประเภท ตั้งแต่พนันออนไลน์ไปจนถึงพนันพื้นบ้าน สืบเนื่องจากการที่ส่วนกลางได้ร่วมเป็นแกนนำยื่นหนังสือถึงท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีในช่วงฟุตบอลโลก"
ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ช่วงฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายของสถาบันยุวทัศน์ฯ ได้จัดทีมเฝ้าระวังสื่อทุกประเภท และพบว่าสื่อออนไลน์เผยแพร่เนื้อหาที่ส่งเสริมหรือเชิญชวนให้เล่นพนันออนไลน์มากกว่าสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิญชวนจากเว็บพนัน ซึ่งมีมากกว่า 2 แสนเว็บไซต์ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ให้เราเห็นบ่อยๆ ซ้ำๆ สร้างความคุ้นชิน กระตุ้นให้สนใจและอยากเล่นอยากลองด้วยคำง่ายๆ แต่จูงใจเด็ก เช่น เงินทอง รวย ฯลฯ โดยแทรกเข้ามาในรายการทุกประเภทที่เด็กรับชม ทั้งการตัดเข้าโฆษณาแบบโจ่งแจ้ง และ tie-in แบบเนียนๆ แม้กระทั่งในเว็บไซต์ที่รายงานข่าวกีฬา เรื่องเหล้า-บุหรี่มีกฎหมายควบคุมการโฆษณาที่ชัดเจน แต่เรื่องพนันในยุค 4.0 นี้ ยังไม่มีอะไรที่มากำกับดูแลเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง จึงควรมีกฎหมายที่ชัดเจน มีบทลงโทษที่เข้มข้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องจัดการอย่างเข้มงวด มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงต้องมาจัดการ ไม่ใช่ฝากสังคมให้ช่วยกันเท่านั้น ที่สำคัญคืออย่าปล่อยให้มี Delivery Gamblingให้เด็กเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย เป็นช่องทางการกระทำผิดกฎหมาย และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบมากมาย"
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.