กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--WWF ประเทศไทย
(ภาพจากซ้ายไปขวา) นายกอร์ดอน คองดอน – ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย ( WWF-Thailand ) มอบรางวัลแด่ นายกเทศมนตรี เมืองยโสธร นายวีระวัฒน์ ภักตรนิกร และ ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เมืองยโสธร คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ One Planet City Challenge (OPCC) ประจำปี 2561 จัดโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)
เมืองยโสธร คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ One Planet City Challenge (OPCC) ประจำปี 2561 จัดโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) คณะกรรมการเผย เทศบาลเมืองยโสธรโดดเด่นจากวิธีการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นเลิศ พร้อมมุ่งมั่นก้าวสู่เมืองที่มีการเดินทางสัญจรอย่างยั่งยืน รวมถึงจัดการระบบการคมนาคมภายในเมืองให้สะดวกยิ่งขึ้น
นายกอร์ดอน คองดอน – ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นสักขีพยานในพิธีมอบรางวัลชนะเลิศ ในโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน ประจำปี 2561 โดยในปีนี้ เมืองยโสธรซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่เข้าร่วมการแข่งขัน 132 เมือง จาก 23 ประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะระดับประเทศของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 7 จากเมืองที่เข้าร่วมทั้งหมด
" โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ OPCC เป็นโครงการประกวดระดับโลกที่จัดขึ้นทุก ๆ สองปี โครงการนี้ได้ให้คุณค่ากับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การเคหะ การคมนาคม และการแก้ปัญหาด้านการสัญจรเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับโลกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ" ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ กล่าวถึงที่มาโครงการ
ทางด้านนายกเทศมนตรีเมืองยโสธร นายวีระวัฒน์ ภักตรนิกร กล่าวว่า "ยโสธรเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน เป็นเมืองที่มีความสงบ เรียบร้อย สวยงาม ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย เป็นเมืองน่าอยู่ผู้คนน่ารัก เมืองยโสธรมีความเป็นธรรมชาติสูง ประชาชนอยู่ร่วมกันแบบสังคมพี่น้อง ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดมลพิษ ประชาชนยังมีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีสามล้อปั่นเป็นพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่เมืองต่างๆ รอบข้าง มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของเมืองไป อย่างรวดเร็ว แต่เมืองยโสธรยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ความมีเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมประเพณีประจำถิ่นของตัวเอง ในอีกมุมหนึ่ง จึงกลายเป็นจุดแข็งและเอกลักษณ์ของเมืองและความโดดเด่นของเมืองแบบที่หาไม่ได้ที่อื่น"
ทั้งนี้ โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน (OPCC) ถือเป็นส่วนสำคัญของ WWF เพราะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยประเทศในการเจรจาด้านภูมิอากาศระดับชาติ และมีส่วนช่วยให้เมืองบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนในระดับท้องถิ่น โดยปีนี้เน้นย้ำเพิ่มเติมในด้านการคมนาคมและการเดินทางอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ทั่วโลก เพราะเกือบหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการคมนาคมขนส่ง โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเมืองใหญ่ต่าง ๆ ให้จัดสรรงบประมาณในการหาทางออกที่ยั่งยืนและร่วมมือกันเพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการด้านการสัญจรภายในเมือง ซึ่งจะต้องเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่รบกวนระบบนิเวศของโลกจนเกิดขีดความสามารถในการรักษาสมดุลของตัวมันเอง
สำหรับประเทศไทย มีเมืองที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้จำนวน 10 เมือง และคณะกรรมการได้คัดเลือก 2 เมืองเพื่อเข้าสู่รอบสุดท้ายของโครงการ "We Love Cities" ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองยโสธร โดยมีเป้าหมายในการเปิดโอกาสให้พลเมืองได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นเพื่อการพัฒนาเมือง โดยรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ เทศบาลเมืองยโสธร
"เทศบาลเมืองยโสธรยังคงเดินหน้าในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จากความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะผู้บริหารและพนักงานเทศบาลทุกคน ในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนตามนโยบายของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการยโส โลว์คาร์บอน ไว้ในแผนยุทธศาสตร์การลดและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแผนพัฒนาเทศบาลเมืองยโสธร พ.ศ.2561-2564" นายกเทศมนตรีเมืองยโสธร กล่าว
เกี่ยวกับ WWF
WWF หรือ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก คือ หนึ่งในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่และได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีพันธกิจเพื่อหยุดยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และรณรงค์ลดการก่อมลภาวะและการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะเป็นไปได้เมื่อเราร่วมมือกัน
เกี่ยวกับโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน
โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ One Planet City Challenge ชื่อเดิมคือ โครงการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน หรือ Earth Hour City Challenge เริ่มดำเนินการโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อขับเคลื่อนสนับสนุนเมืองต่างๆ ไปสู่อนาคตที่สามารถฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เมืองได้แสดง ความมุ่งมั่นและนำเสนอปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานและการเดินทางสัญจรอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 320 เมือง จากทั้ง 5 ทวีปทั่วโลก