กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำทีมโดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. พร้อมด้วยทีมวิศวกรอาสา คุณนิสิต วนิชรานันท์ และ คุณหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท.ได้ลงพื้นที่สำรวจวิเคราะห์อุบัติภัยจากเครนหักโค่นทับเสาไฟฟ้า บ้าน และทับรถยนต์เสียหาย ภายในซอยศาลาแดง 2 ถนนสีลม
หลังจากเครนล้มที่ไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียม ย่านพระราม 9 เมื่อ 30 สิงหาคม 2561 ถัดมาเพียง 2 สัปดาห์ ในเช้าวันที่ 14 ก.ย. เมื่อเวลา 09:00 น. เกิดเหตุเครนก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยได้หักล้มในซอยศาลาแดง 2 ถ.สีลม โดย เครนหักโค่นลงมาทับรถยนต์ ร้านค้า และเสาไฟฟ้าหักขวางกลางซอย รถผ่านไม่ได้ ต้องปิดการจราจรชั่วคราว ลักษณะเครนได้หักลงมาขวางกลางถนน โดยขาของเครนเกี่ยวสายไฟสื่อสารและดึงเอาเสาไฟฟ้าหัก 7 ต้น ต้นไม้ 5 ต้น นอกจากนี้ยังพบหลังคาร้านค้าที่เป็นอาคาร 2 ชั้น เสียหาย 1 ห้อง รถเก๋งฮอนด้า สีขาวถูกเครนทับที่กระโปรงหน้า 1 คัน ขาเครนยังหักทับรถเก๋งจอดริมถนนเสียหายอีก 2 คัน ที่หน้าอาคารอีกแห่ง ในที่เกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บอีก 3 - 4 คน เป็นผู้ขับรถเก๋ง รถจักรยานยนต์ และคนเดินเท้า ได้รับการช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ และหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบคือ นักแสดงสาว มิ้งค์-ณัฏฐริณีย์ กรรณสูต ซึ่งบ้านได้รับความเสียหายและเศษปูนแตกหล่นใส่รถยนต์ที่จอดอยู่หน้าบ้านจนกระจกแตก หลังคาบุบ
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สาเหตุเครนถล่มย่านศาลาแดงอาจเกิดจากฐานเครนไม่แข็งแรง โดยติดตั้งทาวเวอร์เครนฝังลงในบ่อลิฟท์ไม่ได้มาตรฐาน ระหว่างตัวฐานของทาวเวอร์เครนกับตัวฐานรากบ่อลิฟท์ไม่มั่นคงแข็งแรง ฐานรากมีความลึกเพียง 1.3 เมตร ไม่สอดคล้องกับตัวเครนที่สูง 27 เมตร ประกอบกับการเชื่อมไม่สามารถรับแรงที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นขณะที่เครนกำลังยกตัวขึ้น จึงเกิดเหตุไม่คาดคิดและอาจเป็นสาเหตุของเครนล่มในครั้งนี้ ทั้งนี้ต้องตรวจสอบในรายละเอียดการขออนุญาติติดตั้ง และผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ทาง วสท. ซึ่งมีบทบาทในการอบรมและพัฒนาความรู้แก่บุคลากรด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง เราจะเพิ่มเติมเนื้อหาอบรมด้านความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างในการติดตั้งเครนด้วย เช่น การออกแบบฐานทาวเวอร์เครน การออกแบบจุดต่อต่างๆ เป็นต้น
ในอนาคตประเทศไทยจะมีการปรับปรุงข้อกฎหมายปั้นจั่นฉบับใหม่ คือ การเพิ่มมาตรการของการวางแผน (ทำแผนการยกก่อนใช้งานจริง) ต้องลงนามรับรองการใช้งานโดยผู้ควบคุมเครน ซึ่งปัจจุบันจะใช้ในงานใหญ่ๆหรืองานมาตรฐานสูงเท่านั้น คาดว่ากฎหมายใหม่จะออกในช่วงปลายปี 61 – ต้นปี 62 โดยจะมีการบังคับใช้ในงานที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หรือในการยกที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น ยกของที่มีน้ำหนักมาก ๆ การยกของที่ใกล้เคียงกับพิกัดยก
สำหรับ ปั้นจั่น หรือ เครน นับเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจแยกได้เป็นหลายชนิด เช่นปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane), ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane) รวมถึงรถเครน, ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) และรอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกแบบต่าง ๆ โดยตามกฎหมายได้มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินกว่า 1 ปี ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครนก้าวหน้า แต่ในประเทศไทยมักใช้เครนเก่ามือสองมือสามซึ่งมีเป็นจำนวนมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดการใช้งานทั้งหมด เครนบางตัวมีอายุเกินกว่า 30 ปี อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น ลิมิตสวิตช์ตัดการทำงานของเครน สภาพของสลิงที่ใช้งานมีสภาพชำรุด สภาพโครงสร้างที่อาจได้รับผลกระทบจากความล้าของโลหะ การบำรุงรักษาในขั้นตอนก่อนการติดตั้งหรือขั้นตอนการติดตั้งที่ยังขาดการตรวจสอบตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ผู้บังคับเครนและผู้ยึดเกาะวัสดุยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน รวมถึงผู้ว่าจ้างยังขาดความสนใจเรื่องคุณภาพความพร้อมของเครนทีใช้งาน โดยจะพบเครนกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ทำงาน รวมถึงไซต์ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ จึงนับว่าอุบัติภัยจากเครน เป็นอีกความเสี่ยงภัยสาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนได้