กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางจัดงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยคัดเลือก 10 โครงการต้นแบบจากหลากหลายมิติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) โดยมีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในวันนี้ (18 ก.ย. 61) ณ ห้อง Platinum Hall โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน ว่า การดำเนินโครงการ CoST ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2560 โดยมีโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการ CoST รวม 5 โครงการ ทั้งหมดเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบในวงกว้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 มีการคัดเลือกโครงการก่อสร้างภาครัฐเข้าร่วมโครงการ CoST เพิ่มมากขึ้น รวมจำนวน 147 โครงการ มูลค่าการก่อสร้างรวม 113,665 ล้านบาท จากทั้งหน่วยงานระดับกรม รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่น โดยมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการตามแนวทางของ CoST แล้วจำนวน 120 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลืออยู่ระหว่างการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง และมีกระทรวงเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 กระทรวง โดยกระทรวงคมนาคมมีมูลค่าโครงการสูงสุด 99,627 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงมหาดไทย มีจำนวนโครงการเข้าร่วมสูงสุด จำนวน 104 โครงการ
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การวิเคราะห์ภาพรวมของโครงการที่มีการเปิดเผยข้อมูล พบว่า โครงการของหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจจะมุ่งเน้นงานถนน สะพาน และงานชลประทาน ส่วนท้องถิ่นจะมุ่งเน้นงานอาคารและงานถนน และจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมีความสัมพันธ์กับการแข่งขันด้านราคาในทิศทางเดียวกัน โครงการที่มีมูลค่างานต่ำจะมีจำนวนผู้เข้าแข่งขันมาก ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาสูงเกินกว่าร้อยละ 15 ในขณะที่การเปิดเผยข้อมูล
โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เฉลี่ยที่ร้อยละ 82.81 ในขณะเดียวกันยังได้มีการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยสุ่มคัดเลือก 10 โครงการต้นแบบจากหลากหลายมิติ เช่น ประเภทการก่อสร้าง งบประมาณ และพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยและมีการจัดเวทีภาคประชาชนเพื่อสอบถามความคิดเห็นหรือรับฟังปัญหาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างที่สุ่มตรวจ พบว่า การเปิดเผยข้อมูลตามแนวทาง CoST ของหน่วยงานระดับกรมอยู่ที่ร้อยละ 90 หน่วยงานระดับท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 80 และมีข้อห่วงใยของประชาชนคือ การบริหารจัดการโครงการภายหลังการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทั้งนี้ โดยภาพรวมประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่นว่าโครงการที่ดำเนินการทั้ง 10 โครงการ มีความโปร่งใสในการก่อสร้าง และสามารถบริหารจัดการข้อร้องเรียนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี