กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ กระตุ้นหน่วยงานในสังกัดฯ ใช้ดิจิทัลพัฒนาพื้นที่ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคน
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ผลักดันไปรษณีย์ไทย เร่งขยายโครงการ "พี่ตู้รู้ทุกเรื่อง" ทั่วประเทศภายในปีนี้ พร้อมตรวจเยี่ยมสถานีอุตุนิยมวิทยาเพชรบูรณ์ แนะกรมอุตุนิยมวิทยาใช้ภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย พร้อมอัพเดตแอปพลิเคชั่น "TMD Smart SIM" เพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์อากาศ นอกจากนี้ ยังได้เปิดโครงการ "Internet for Better Life" ของ สพธอ. กิจกรรมอบรมสร้างความตระหนักในการใช้อินเทอร์เน็ต ให้เสริมสร้างรายได้ และรู้เท่าทันภัยคุกคามไซเบอร์แก่เด็กและเยาวชน จนถึงผู้สูงอายุ หวังผู้ได้รับการอบรมใช้อินเทอร์เน็ตสร้างสรรค์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดฯ ว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2561 ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ "พี่ตู้รู้ทุกเรื่อง" ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ณ ท่าอากาศยานพิษณุโลก ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการสร้างนวัตกรรมตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะยุค 4.0 ที่เปลี่ยนตู้ไปรษณีย์ธรรมดาให้เป็นแหล่งข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงได้เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเป็นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยว และผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้มีรายได้หมุนเวียนมากขึ้น โดยจะนำร่องติดตั้งตู้ดังกล่าวในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 15 ตู้ ในทุกอำเภอ จากนั้นจะขยายไปพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศภายในปีนี้
โดยในวันที่ 17 กันยายน 2561 ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีอุตุนิยมวิทยาเพชรบูรณ์ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลฯ สถานีอุตุนิยมวิทยาเพชรบูรณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการตรวจสอบอากาศ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารด้านการพยากรณ์อากาศ การเตือนภัยธรรมชาติ และการพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเป็นประจำทุกวัน พร้อมนำส่งข้อมูลให้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก เพื่อแจ้งประชาสัมพันธ์ให้กับเครือข่ายกรมอุตุนิยมวิทยาให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ตลอดจนสนับสนุนการประกาศเตือนภัยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของชีวิต และลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินได้ ซึ่งประชาชาชนจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ และครอบคลุม ทำให้สามารถวางแผนจัดการล่วงหน้าเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ การแจ้งเตือนภัย การเตรียมอพยพ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ได้แนะนำให้สถานีอุตุนิยมวิทยาเพชรบูรณ์ ดำเนินการรายงานข้อมูลพยากรณ์อากาศด้านการเตือนภัยพิบัติในระดับพื้นที่ ด้วยการภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมการในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความสูญเสียที่อาจเกิดจากภัยธรรมชาติได้ด้วย พร้อมทั้งให้กรมอุตุนิยมวิทยา ดำเนินการอัพเดตแอปพลิเคชั่น "TMD Smart SIM" รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของความแม่นยำ ตลอดจนความสะดวกในการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ
ในวันเดียวกันได้ลงพื้นที่ โรงเรียนร่มเกล้าเขาค้อ ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นประธานเปิดโครงการ "สร้างความตระหนักในการใช้อินเทอร์เน็ต ให้เสริมสร้างรายได้ และรู้เท่าทันภัยคุกคามไซเบอร์" (Internet for Better Life) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ จัดขึ้น เพื่อสร้างเสริมมาตรการสร้างความเชื่อถือในการทำ e-Commerce พร้อมสร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการสร้างพฤติกรรม และจริยธรรมอันดี ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องเหมาะสม และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษา หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี และผู้สูงวัย อายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งสพธอ. จะจัดอบรมหลักสูตรที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่างๆ รวม 4 ภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหา สื่อเผยแพร่ต่างๆ ที่เข้าใจง่าย เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาของการอบรมได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับสภาวการณ์ของเทคโนโลยี และสังคมปัจจุบัน