กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
"ผู้พิทักษ์ป่า" อาชีพที่ใครหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าเขาเหล่านี้ ต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงและอันตรายมากเพียงใด เพื่อดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้คงอยู่
จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประเทศไทยมีผืนป่ากว่า 102 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 20,000 คน ซึ่งหมายถึง พื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของผู้พิทักษ์ป่าเพียง 1 คนเท่านั้น
เบื้องหน้า คือ ผืนป่าอันกว้างใหญ่ เบื้องหลัง คือ ครอบครัวที่ห่วงใย แม้จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักหน่วง บางครั้งอาจจะต้องเผชิญกับขบวนการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ โรคภัยไข้เจ็บสารพัด หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติและความดุร้ายของสัตว์ป่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการทำหน้าที่ไปพร้อมกับความกังวลว่าใครจะดูแลลูกและครอบครัว แต่เขาเหล่านี้ยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฮีโร่อย่างเข้มแข็ง แม้จะตกอยู่ในภาวะ "ห่วงหน้า พะวงหลัง" ก็ตาม
เพื่อตอบแทนความทุ่มเท เสียสละทั้งแรงกายแรงใจของผู้พิทักษ์ป่า "มูลนิธิเอสซีจี" จึงมอบทุนการศึกษาแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า ภายใต้ โครงการ "Sharing the Dream Scholarship โดยมูลนิธิเอสซีจี" ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2558 เป็นปีแรก จนถึงปัจจุบันได้มอบทุนแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าไปแล้ว 366 ทุน ใน 152 พื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งในปี 2561 นี้ นับเป็นปีที่ 4 ได้มอบทุนแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าอีกจำนวน 160 ทุน ใน 92 พื้นที่อนุรักษ์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้พิทักษ์ป่าให้ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้อง 'ห่วงหน้า พะวงหลัง' ต่อไป
"ทุนการศึกษาที่บุตรของผู้พิทักษ์ป่าได้รับนั้นเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน มูลนิธิเอสซีจีจะมอบให้ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษา เรียกได้ว่าช่วยลดความกังวลให้กับผู้พิทักษ์ป่า ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลัง สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่" ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าว
"ถาวร ชูกรณ์" พนักงานพิทักษ์ป่า สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า เล่าว่า จุดเริ่มต้นชีวิตผู้พิทักษ์ป่าของเขาเริ่มขึ้นเมื่อปี 2550 ในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า ในขณะนั้นทำหน้าที่ลาดตระเวนตรวจหาไฟป่าและควบคุมไฟป่า ตลอดระยะเวลา 7 ปี ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทมาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่าในปี 2557
ถาวรต้องปฏิบัติงานในพื้นยากลำบาก หน้าที่หลักของเขาคือการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามต่อเนื่อง และเมื่อเกิดไฟป่าขึ้น ต้องควบคุมไฟและดับไฟให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง นับเป็นการปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เขาก็ยังยืนหยัดที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ เพราะต้องการจะปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและชื่นชมต่อไป
11 ปี กับอาชีพผู้พิทักษ์ป่า ภารกิจที่ถาวรภูมิใจมากที่สุดคือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ จ. นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2555 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ไฟป่ามีความรุนแรง ลุกโหมกินพื้นที่กว่าพันไร่ เขาต้องแบกเครื่องสูบน้ำเข้าไปในป่าเป็นระยะทางประมาณ 3-4 กิโลเมตรเพื่อดับไฟป่า และต้องอัดฉีดน้ำลงไปในดิน ให้น้ำซึมลงไปให้ลึกพอที่จะดับไฟได้ การดับไฟป่าในครั้งนี้ทำให้ถาวรต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในป่านานกว่า 2 เดือน เลยทีเดียว
สิ่งที่ถาวรห่วงอยู่เสมอนอกเหนือจากการดูแลป่า คือการศึกษาของลูก
"รายได้ของผมตอนนี้ไม่เพียงพอที่จะส่งลูกๆ เรียน ผมต้องทำงานกรีดยางเป็นอาชีพเสริม เพื่อสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริง พอผมรู้ว่ามูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาลูกผม ทำให้ผมหายห่วง และมีกำลังใจทำงานต่อไป และบอกลูกเสมอว่าได้ทุนเรียนแล้ว ขอให้ตั้งใจเรียน เรียนให้เก่งๆ เมื่อโตขึ้นจะได้เป็นพยาบาลอย่างที่ลูกตั้งใจไว้" ถาวร กล่าว
ด.ญ.ทักษิณา ชูกรณ์ หรือ "น้องวิว" บุตรสาวคนโตของถาวร ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่า กล่าวว่า รู้สึกดีใจและตื้นตันใจที่มีคนมองเห็นความสำคัญของพ่อ ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อ ก่อนที่พ่อจะออกไปทำงานในป่าแต่ละครั้งจะยกมือไหว้ แม้จะไม่แสดงออกมาเป็นคำพูดว่ารักพ่อมากแค่ไหน แต่เมื่อพ่อกลับมาบ้านทุกครั้ง จะวิ่งเข้าไปกอดพ่อ ดีใจที่พ่อกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยทุกครั้ง
สำหรับความรู้สึกที่ได้รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ รู้สึกดีใจและขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เล็งเห็นความสำคัญของผู้พิทักษ์ป่า ตนเองในฐานะลูกจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ปัจจุบันเกรดเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.5 และมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นพยาบาล เพื่อจะได้ดูแลพ่อและแม่ในอนาคต
"เฉลิม ปิดกลาง" เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี บอกเล่าถึงการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ว่า ตนเองเป็นชาว ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีครอบครัวและลูก 2 คน เริ่มรับราชการเมื่อปี 2550 ในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 5 ปี จึงได้ย้ายมารับตำแหน่งที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ต่อมาในปี 2557 ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการในตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า
ตลอดอายุการทำงานกว่า 11 ปี เฉลิมเป็นผู้เสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด เหตุการณ์ที่ตอกย้ำความเสียสละในการทำงานของเขาคือ การกระโดดลงจากรถยนต์กระบะ เข้าขวางรถยนต์ของกลุ่มขบวนการลักลอบตัดและลำเลียงไม้พะยูงที่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อสกัดกั้นและจับกุม ตัวเฉลิมถูกรถยนต์คันดังกล่าวพุ่งชนจนร่างกระเด็น ส่วนรถยนต์คันที่พุ่งชนก็เร่งเครื่องหลบหนีไป แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถติดตามจับกุมกลุ่มผู้ร่วมขบวนการได้ 2 คน พร้อมรถยนต์กระบะ 1 คัน และไม้พะยูงแปรรูปซุกซ่อนอำพราง จำนวน 8 แผ่น จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ จนเพื่อนๆ และผู้บังคับบัญชาตั้งฉายาให้เป็น "เฉลิม คนบิน"
อีกสิ่งหนึ่งที่เฉลิมไม่เคยบกพร่อง คือ หน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว เขาต้องดูแลลูก 2 คนและภรรยา นับเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
"เดือนหนึ่งๆ ผมเข้าป่า 26 วัน มีเวลาให้ครอบครัวแค่ 4 วัน ผมคิดถึงและห่วงพวกเขามาก ลูกๆ ก็ห่วงผมเช่นกัน เวลาที่ผมออกไปลาดตระเวนในป่าแต่ละครั้ง เขากลัวผมจะไม่ได้กลับมา เวลาที่ลูกป่วย เราเป็นพ่อเขาแท้ๆกลับไม่มีเวลาไปดูแลลูก เคยคิดถอดใจกับอาชีพนี้หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ได้รับกำลังใจที่ดีจากภรรยา ผมจึงบอกกับลูกๆ เสมอว่ามันเป็นหน้าที่ที่พ่อต้องทำ ถ้าไม่ทำใครจะดูแลป่า ซึ่งผมรู้สึกดีใจมากที่มูลนิธิเอสซีจีเข้ามาช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับลูก ต่อไปนี้ไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ผมสอนลูกเสมอให้ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด อยากเห็นลูกได้เรียนสูงๆ มีอนาคตที่ดี" เฉลิม กล่าว
"โตขึ้นผมจะเป็นผู้พิทักษ์ป่าแบบพ่อ" นี่คือสิ่งที่ "น้องฟลุ๊ค" ด.ช วัชรชัย เพรชสาโย อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านซับใต้ จ.นครราชสีมา บุตรชายของ "เฉลิม คนบิน" หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่า บอกถึงความมุ่งมั่นกับอาชีพที่เขาใฝ่ฝันในอนาคต นั่นคือการเดินตามรอยพ่อ ในอาชีพ "ผู้พิทักษ์ป่า" ด้วยความตั้งใจที่จะดูแลผืนป่า ซึ่งสิ่งที่น้องฟลุ๊คบอกมานั้น ทำเอาเฉลิม ผู้เป็นพ่อได้ฟังถึงกับภาคภูมิใจและตื้นตันใจอยู่ไม่น้อย และดีใจที่ลูกของตนมีความกล้าหาญและอยากสานต่ออาชีพของพ่อ ซึ่งเป็นอาชีพที่หลายคนมองว่าเสี่ยงและไม่มีใครนึกถึง
แม้จะเป็นอาชีพที่มุ่งมั่นในอนาคต แต่ปัจจุบัน "น้องฟลุ๊ค" บอกว่าสิ่งที่ตนสามารถทำได้นั่นคือ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและทำหน้าที่ของตนเองในขณะนี้ให้ดีที่สุด ว่างจากการเรียน สิ่งที่จะทำเสมอคือการแบ่งเบางานบ้านเช่น ช่วยยายล้างจาน และเข้าป่าเลี้ยงวัวให้ตา "น้องฟลุ๊ค" ขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มอบโอกาสที่ดีให้ ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนมองเห็นคุณค่าของพ่อ "ฮีโร่" ที่เสียสละทำหน้าที่ในการดูแลผืนป่าที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ
"ยอด วงศ์ดวงคำ" เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เล่าถึงพื้นเพเดิมว่าเกิดที่ อ.ห้วยคต ต.ทองหลาง จ.อุทัยธานี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ จึงตัดสินใจสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในปี 2547 ต่อมาในปี 2555 ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยการออกปฏิบัติการลาดตระเวน ตรวจปราบปราม ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการลักลอบล่าสัตว์ป่า นับเป็นงานที่เสี่ยงต่อชีวิต ทุกครั้งที่ยอดปฏิบัติงานลาดตระเวน เขาจับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าได้เสมอ จึงทำให้อัตราผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสัตว์ป่า
"ผมไม่เคยกลัว หรือ ท้อ ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อต้องการปกป้องผืนป่า" นี่คือสิ่งที่ยอดกล่าว และสิ่งที่ตอกย้ำคำพูดของยอดได้ดี นั่นคือเหตุปะทะกับกลุ่มพรานป่าลักลอบล่าสัตว์เมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นทำให้ยอดโดนกระสุนแฉลบเข้าบริเวณคางได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 2 ปี หลังจากหายเป็นปกติ ยอดได้กลับมาปฏิบัติงานที่เขารักอีกครั้ง เหตุการณ์ในวันนั้นไม่ทำให้เขาคิดที่จะทิ้งอาชีพ แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เขาปฏิบัติงานต่อไป เพราะคำว่ารักในอาชีพนี้
"เวลาผมไปทำงาน ผมต้องเข้าป่าอย่างน้อยเดือนละ 15 วัน ผมเป็นห่วงและคิดถึงลูกๆ มาก เคยคิดหลายครั้งว่าถ้าหากผมเป็นอะไรขึ้นมาใครจะดูแลครอบครัวของผมโดยเฉพาะลูกๆ แต่พอรู้ว่ามูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาลูกผม ทำให้ผมหายห่วงและอุ่นใจ ที่อย่างน้อยยังมีคนเห็นคุณค่าและยื่นมือมาช่วยดูแลอนาคตของลูก" ยอด กล่าว
15 วันที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า กับ 10 วันที่ประจำการที่หน่วย เหลือเพียง 5 วันเท่านั้นที่ได้กลับมาหาครอบครัว แม้จะเป็นเวลาอันน้อยนิด แต่ยอดก็ใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่า ด้วยการปลูกฝังให้ลูกๆ รักสัตว์ รักป่าเหมือนตนเองอยู่เสมอ และหวังว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่ดี ท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่วัยชรา และดูแลลูกอีก 2 คน การที่ลูกได้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่าที่มูลนิธิเอสซีมอบให้ นับเป็นพลังใจอันสำคัญที่ทำให้เขายังคงยืนหยัดในการเป็นผู้พิทักษ์ป่าต่อไป ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลังอย่างที่เคยเป็น
"ทุกครั้งที่พ่อเสร็จสิ้นจากภารกิจลาดตระเวนในป่ากลับมาบ้าน หนูจะใช้เวลากับพ่อเสมอ พ่อจะชอบสอนหนูทำการบ้าน ให้หนูอ่านหนังสือให้ฟังทุกเช้าและก่อนเข้านอน ดีใจที่พ่อกลับมาบ้าน เวลาพ่อเข้าป่าจะบอกพ่อทุกครั้งว่า ขอให้พ่อกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยนะ หนูรอพ่ออยู่" ด.ญ.อรจิรา วงศ์ดวงดำ "น้องโฟร์" บุตรสาวของยอด หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่า กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อเวลาพ่อออกไปปฏิบัติภารกิจในฐานะ "ผู้พิทักษ์ป่า"
ปัจจุบัน น้องโฟร์ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความฝันอยากเป็นคุณหมอในอนาคต เมื่อมูลนิธิเอสซีจี มอบทุนการศึกษาให้ตน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน ทุกวันนี้ตนพยายามตั้งใจเรียน ทำหน้าที่ของความเป็นลูกอย่างดีที่สุด ให้สมกับโอกาสดีๆ ที่มูลนิธิเอสซีจีหยิบยื่นให้ แม้ว่าจะได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อน้อยกว่าเด็กๆ คนอื่นเขา แต่ตนก็ไม่เคยรู้สึกน้อยใจ กลับรู้สึกภูมิใจมากกว่าที่มีพ่อเป็นฮีโร่