กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 18 กันยายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ว่า ที่ประชุมครม.รับทราบแนวทางการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมสู่มรดกโลก:จากคุณค่า ความภูมิใจสู่อาชีพและรายได้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและอุตรดิตถ์) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งโบราณสถาน โบราณคดีที่สำคัญของชาติจำนวนมาก รวมทั้งยังมีวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตที่มีความโดดเด่น จึงควรได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ) ที่มีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง จึงควรได้รับการสนับสนุนให้นำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป เช่น ประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ ประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน และประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.รับทราบผลการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้รายงานผลการปฏิบัติราชการการดำเนินงานพัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในจ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โบราณสถานวัดมหาธาตุ "ถนนคนเดิน:ถนนคนเพ็ดซะบูน" และชุมชนคุณธรรม วัดท่ากกแก โดยได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่1.กรมศิลปากร(ศก.) ร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์เร่งรัดดำเนินการเพื่อเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) เพื่อพิจารณาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกในอนาคต และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเข้าถึงของคนทุกกลุ่มในลักษณะอารยสถาปัตย์ รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง และ2.ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับเทศกาลประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่นสู่ระดับชาติและนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 2 กลุ่มจังหวัด มีข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้แก่ 1.การปรับระบบไฟฟ้าส่องสว่างและการปรับระบบการจำหน่ายไฟฟ้าจากระบบ Overhead เป็นเคเบิลใต้ดินในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2.การปรับระบบการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินในพื้นที่เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ซึ่งทั้งสองเรื่องดังกล่าวกรมศิลปากรจะดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคส่งแผนการดำเนินงานมาให้พิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เนื่องจากปฏิบัติการอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และ3.การปรับปรุงถนนรอบคูเมืองชั้นในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อเป็นการต่อยอดจากแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่ครม.เห็นชอบในคราวการประชุมครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ซึ่งกรมศิลปากรได้รับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการโดยจัดทำรายละเอียดการดำเนินงานและนำไปบรรจุไว้ในแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย(พ.ศ.2561-2570) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีรูปแบบการดำเนินงานและพร้อมที่จะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณพ.ศ.2563 และจะปรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณพ.ศ.2562 เพื่อดำเนินการในบางส่วน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563