กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ องค์กรมหาชน และองค์การระหว่างประเทศ จัดโครงการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติเกี่ยวกับหมู่บ้านและชุมชนเพื่อการต่อต้านการทุจริต ภายใต้แนวคิด "รวมพลังสร้างคนดี สังคมดีอย่างยั่งยืน" ในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2561 เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจากพลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ชเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการฯ และกล่าวปาฐกถานำเรื่อง "การสร้างสังคมสุจริต สู่การยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย" ต่อด้วยการอภิปรายเรื่อง "รวมพลังสร้างคนดี สังคมดีอย่างยั่งยืน" โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้ พระเมธาวินัยรส, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พล.อ.ศรุต นาควัชระ กรรมการบริหารมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์คุณธรรม นายชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์ สื่อมวลชน, ทนายความอิสระ ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้บริหาร บริษัท Opendream กิจการ เพื่อสังคม (Social Enterprise)
อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้แทนสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program : UNDP) ผู้แทน ศูนย์คุณธรรม และผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในงานด้วย
สำหรับการจัดการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งให้เกิดสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สุจริต และยุติธรรม สร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกัน การทุจริตแก่ชุมชน ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของความเป็นสังคมพลเมือง และพัฒนาแนวทางขยายเครือข่ายหมู่บ้าน/ชุมชน โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมรูปแบบประชารัฐ และพัฒนากลไกป้องกันการทุจริตยกระดับงานวิชาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วยกระบวนการวิจัยประเมินผล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้บรรลุเป้าหมายการสร้างสังคมสุจริต ตลอดจนเพื่อเป็นการขับเคลื่อนการสร้างและยกระดับการรับรู้การทุจริต ของประเทศไทยด้วยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป