กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--ปชส.จร.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์นมและผลิตภัณฑ์นมของสหภาพยุโรปและออสเตรเลีย แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยเร่งปรับตัวใช้โอกาสจากราคานำเข้านมผงเพิ่มขึ้นนางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการศึกษาสถานการณ์การผลิต การบริโภค นโยบายการค้านมและผลิตภัณฑ์นมของสหภาพยุโรปและออสเตรเลียว่า สหภาพยุโรปมีการผลิตน้ำนมดิบแต่ละปีปริมาณ 130-131 ล้านตัน โดยในปี 2550 มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 0.8 เป็นการใช้บริโภคภายในรูปของน้ำนมดิบ 34 ล้านตัน ส่วนที่เหลือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปนมอื่นๆ เช่น เนย เนยแข็ง และนมผง ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมปีละประมาณ 5,030 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเนยแข็งและนมผง ที่มีสัดส่วนร้อยละ 51.8 และ 25.9 ของการส่งออกตามลำดับ โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่ไทยไม่ใช่ตลาดหลัก ส่วนการนำเข้า มีไม่มากนักประมาณปีละ 762 ล้านเหรียญสหรัฐ สหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการให้การอุดหนุนภายในมาตลอด แต่ในการปฎิรูปปี 2546 ได้มีการลดราคาแทรกแซงลง ลดการอุดหนุนการส่งออก ส่งผลให้สหภาพยุโรป ส่งออกนมผงสู่ตลาดโลกลดลง ทำให้การผลิตนมผงลดลงจาก 1.9 ล้านตันในปี 2548 เหลือ 1.8 ล้านตันในปี 2550 จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคานมผงขาดมันเนยในตลาดโลกสูงขึ้นมากกว่า 50%
นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า ในส่วนออสเตรเลีย ที่ผ่านมาออสเตรเลียประสบปัญหาสภาวะแห้งแล้ง ส่งผลให้จำนวนโคนมลดน้อยลง ทำให้ผลผลิตน้ำนมดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยผลิตได้ในปี 2547-2548 ปริมาณ 10,125 ล้านลิตร เหลือเพียง 9,583 ล้านลิตรในปี 2549-2550 ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นแหล่งผลิตนมผงที่สำคัญในภูมิภาคนี้ มีการส่งออกร้อยละ 85 ของผลผลิต โดยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 1,540 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเนยแข็งและนมผง สัดส่วนร้อยละ 41.2 และ 49.1 ตามลำดับ แต่ในปี 2549-2550 มีการส่งออกสู่ตลาดโลกลดลง เนื่องจากสภาพของความแห้งแล้ง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตโดยรวมลดลง ในขณะที่ความต้องการนมผงขาดมันเนยในกลุ่มประเทศแถบเอเชียและอเมริกาใต้ ตั้งแต่ปี 2548 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามออสเตรเลียยังมีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่ไม่มากนักเฉลี่ยเพียง 250 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากนิวซีแลนด์และสหภาพยุโรป
สำหรับประเทศไทยระยะนี้ราคานำเข้านมผงขาดมันเนยมีราคาสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมของไทยชะลอการนำเข้านมผงลงมา เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยจึงควรใช้โอกาสนี้เร่งปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดเสรีนมผงกับออสเตรเลียที่จะเปิดกว้างมากขึ้นในอนาคต