กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 7/2561 ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการโครงการรวบรวมและจัดเก็บมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำปี 2560 และยังรับทราบสรุปผลการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีปีงบประมาณ 2560-2561 ของคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการฯ ประจำจังหวัด นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบร่างกรอบแนวทางการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอ โดยร่างกรอบแนวทางดังกล่าวมีทั้งหมด 8 แนวทาง ได้แก่ 1.การถ่ายทอดและการศึกษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2.ขีดความสามารถของสถาบันองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ 3.การจัดทำบัญชีและการศึกษาวิจัย 4.นโยบาย มาตรการทางกฎหมายและทางการบริหาร 5.บทบาทของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาในสังคม 6. การสร้างความตระหนักรู้ 7. การมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่มชน และปัจเจกบุคคล ตลอดจนภาคประชาสังคม 8.ความร่วมมือในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา 8 แนวทางดังกล่าว โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะและแนวทางการจัดทำแนวทางดังกล่าวให้สมบูรณ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ สวธ. นำเสนอต่างๆและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการจัดทำแนวทางดังกล่าวด้วย ภายใต้แนวคิด "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้รับการสงวนรักษาโดยชุมชน กลุ่มชน และปัจเจกบุคคลที่ดูแลอย่างต่อเนื่องอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ศักดิ์ศรี และการสร้างสรรค์ ในสังคมที่สันติสุข"
นายวีระ กล่าวว่า ในเบื้องต้นแนวทางดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานทั้งหมด 3 ระยะ คือ 1.ระยะสั้น ดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการสนับสนุนการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั่วไป และขีดความสามารถในการใช้มาตรการหรือแผนการสงวนรักษารายการมรดกฯ เฉพาะเรื่อง 2.ระยะกลาง ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในท่ามกลางความหลากหลายระหว่างชุมชน กลุ่มชน ปัจเจกบุคคล รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการมีส่วนร่วมสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในการเข้ามาร่วมกันพัฒนา ดำเนินมาตรการ และวางแผนเพื่อการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และ 3.ระยะยาว มีเป้าหมาย 4 ด้าน 1. เกิดการปฏิบัติและถ่ายทอดคุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง 2.เกิดความยอมรับในความหลากหลายของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 3. เกิดการรับรู้และตระหนักในความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาและ 4. เกิดข้อตกลงและความร่วมมือนานาชาติที่เกี่ยวกับการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ