กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลโพล เรื่อง ความพอใจต่อบริการโรงพยาบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,125ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 10 - 18 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึง ความรู้สึกพึงพอใจต่อบริการขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปของโรงพยาบาล เปรียบเทียบระหว่าง โรงพยาบาลรัฐ และ เอกชน พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 42.9 พอใจ พอ ๆ กัน ไม่แตกต่าง ในขณะที่ ร้อยละ 30.1 พอใจโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า และ ร้อยละ 27.0 พอใจโรงพยาบาลรัฐมากกว่า แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกพึงพอใจต่อ ความสามารถรักษาโรคเฉพาะทางของโรงพยาบาล เปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.4 พอใจโรงพยาบาลรัฐมากกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 31.8 พอใจ พอ ๆ กัน ไม่แตกต่าง และร้อยละ 15.8 พอใจโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า
ที่น่าสนใจคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.7 พอใจจะแนะนำคนอื่นให้ใช้บริการโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาครั้งล่าสุดด้วย ในขณะที่ร้อยละ 34.1 พอใจแต่ไม่แนะนำคนอื่น และร้อยละ 12.2 ไม่พอใจโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาครั้งล่าสุด
ที่น่าพิจารณาคือ อะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพอใจจะแนะนำคนอื่นให้ใช้บริการโรงพยาบาลเดียวกันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.9 ระบุ หมอดี จ่ายยาดี รองลงมาคือ ร้อยละ 61.3 ระบุ พยาบาลดี พนักงานดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยแก้ปัญหา ติดตามผล ร้อยละ 57.8 ระบุ เทคโนโลยีทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้องไม่ผิดพลาด ร้อยละ 55.2 ระบุ ราคา ค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 53.6 ระบุ ความสะอาด อากาศถ่ายเท ร้อยละ 48.8 ระบุ ทำเลที่ตั้ง ระยะทาง เดินทางสะดวก ร้อยละ 45.1 ระบุ รักษาความลับคนไข้ ไม่พูดอาการคนไข้ในที่แจ้ง ในลิฟท์ ทางเดิน ร้อยละ 40.5 ระบุ อาหารโรงพยาบาล ร้อยละ 36.7 ระบุมีการแสดงดนตรี ผ่อนคลาย และร้อยละ 12.4 ระบุอื่นๆ เช่น ที่จอดรถ ระบบส่งต่อคนไข้ บริการธนาคาร ร้านอาหาร เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความพอใจและความผูกพันของผู้ใช้บริการต่อโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับ พนักงาน (Employee) อันดับแรกได้แก่ คุณหมอดี จ่ายยาดี คนไข้ติดคุณหมอ เป็นปัจจัยสำคัญหลักของความผูกพันจนแนะนำคนอื่นไปโรงพยาบาลนั้น ๆ รองลงมาคือ พยาบาลดี พนักงานดี ก็เป็นเรื่องของ คนเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาคนเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก จนอาจจะไม่ต้องลงทุนมากกับการประชาสัมพันธ์เพราะการบอกต่อ ๆ กันของผู้ใช้บริการในโลกโซเชียลและปากต่อปาก จะกลายเป็นเครื่องมือที่ดีทำให้ธุรกิจบริการของโรงพยาบาลประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกพึงพอใจต่อบริการขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปของโรงพยาบาล เปรียบเทียบระหว่าง โรงพยาบาล รัฐ และ เอกชน