กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการสำรวจศักยภาพ ผู้ประกอบการภาคการผลิต การค้า และบริการ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 1,500 กิจการ โดยใช้เครื่องมือ Self-Assessment ที่มีการวัดผลออกมาเป็นระดับ 1.0 - 4.0 ใน 6 มิติสำคัญ ได้แก่ มิติที่ 1 Smart Operation มิติที่ 2 Strategy & Orgnaization มิติที่ 3 Workforce มิติที่ 4 Technology & Innovation มิติที่ 5 Market Customer & Standard และมิติที่ 6 IT & Data Transaction
จากผลการประเมิน พบว่า ศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมของปี 2561 อยู่ในระดับ 2.0 ในเกือบทุกมิติ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจในช่วงปี 2559-2560 พบว่ามีการปรับตัวในทิศทางที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น ดังนี้
1) สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 1.0 หรือระดับขั้นพื้นฐาน ปรับตัวลดลง จากร้อยละ 11 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 9 ในปี 2561
2) สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 2.0 หรือระดับทั่วไปนั้น ปรับตัวลดลง จากร้อยละ 74 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 61 ในปี 2561
3) สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 3.0 หรือระดับที่มีความเข้มแข็ง มีสัดส่วน เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมร้อยละ 15 ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ในปี 2561
4) สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 4.0 หรือระดับที่มีความเข้มแข็งมาก สามารถก้าว สู่ระดับสากลได้ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นร้อยละ 2 ต่างจากปีก่อนหน้าที่ยัง ไม่มีภาคธุรกิจใดอยู่ในระดับนี้
การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่เข้มแข็งนั้น เป็นผลมาจากนโยบาย อุตสาหกรรม 4.0 ของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาให้วิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนกระบวนการ ดำเนินธุรกิจโดย ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ
ผลการสำรวจยังได้ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้ในหลายจุดของกระบวนการ แต่ยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลตลอด Supply Chain ผ่านระบบ IT ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้เตรียมชุดมาตรการ ทั้งทางการเงินและที่มิใช่ทางการเงิน ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบัน การศึกษา และสถาบันการเงินต่าง ๆ เร่งส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 เต็ม รูปแบบ โดยคาดว่าจะทำให้สถานประกอบการ มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น หรือลดต้นทุนให้ได้มากกว่าร้อยละ 30
สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงินนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเครือข่าย Big Brother จะให้ บริการผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industrial Transformation Center (ITC) ที่มีอยู่ ทั่วประเทศ ในการให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสาธิตกระบวนการผลิต ที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และองค์กรต่างประเทศต่าง ๆ อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ อาลีบาบาจากจีน และ SMRJ จากญี่ปุ่น ในการสนับสนุน SMEs ให้เข้าสู่ Digital Marketing ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C รวมถึงผลักดันให้ SMEs เข้าสู่แพลทฟอร์ม T-GoodTech เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดโลกอีกด้วย
ส่วนมาตรการทางการเงินนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ SME Bank ในการปล่อยสินเชื่อ Transformation Loan สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 แก่สถานประกอบการที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ไปสู่ระบบ 4.0
กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าหัวข้อที่ใช้ในการประเมินศักยภาพอุตสาหกรรมยังต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถสะท้อนถึงระดับพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างแม่นยำ และเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนต่อไป ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อน SMEs ทั่วประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น อาจต้องใช้เวลาแต่ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงินอย่างเข้มข้นในขณะนี้ เชื่อว่า SMEs ไทยจะปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าผลการประเมินครั้งนี้มีประโยชน์ต่อ ส.อ.ท. อย่างยิ่งเพราะทำให้รู้สถานะปัจจุบันของอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำไปใช้วางแนวนโยบายสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ทั้งนี้ สอท.พร้อมเดินหน้าแผนการขับเคลื่อนนโยบาย Industry Transformation ที่มีหลากหลายโครงการรองรับอยู่ และบางโครงการที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว