กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานวันสถาปนากรมประมง ครบรอบ 92 ปี ณ กรมประมง ว่า กรมประมง ได้มีการพัฒนาการประมงไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการในทุกสาขาการประมง และยังได้ปรับเปลี่ยนจากการประมงที่ต้องพึ่งพิงการจับจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว มาเป็นการเพาะเลี้ยง และอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท จนประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์น้ำในลำดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้กรมประมงยังประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาทำประมง IUU การบริหารจัดการและการฟื้นฟูทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน การปรับปรุงกฎหมายภายใต้ พรก.การประมง 2558 การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำอย่างมีมาตรฐาน การพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไทย การศึกษางานวิจัยงานวิชาการต่างๆ การสร้างมูลค่าภาคการเกษตรและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ การให้เกษตรกรชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภาคการประมงไทยในนโยบายสำคัญ การปรับโครงสร้างภาคการตลาดนำการผลิต การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนภาคการประมงให้สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมประมงยังได้มีการพัฒนาการประมงของไทยที่สำคัญทั้ง 4 ด้านอย่างชัดเจนซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเกษตรกร โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น เพื่อมาช่วยเสริมการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยให้ผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาทางการผลิต รวมถึงการผลักดันการรวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ให้เกิดความเข้มแข็ง และพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer สามารถจัดการดูแลและแก้ปัญหาการผลิตและผลผลิตได้อย่างเหมาะสม 2) ด้านการพัฒนาและตรวจสอบสินค้าประมงให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าประมงในตลาดโลก รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าประมงให้ได้คุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การขยายตลาดใหม่ 3) ด้านการบริหารจัดการด้านการประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อให้มีความยั่งยืนและคงความหลากหลาย ฟื้นฟูสัตว์น้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยให้เกิดความสมดุลกับการนำมาใช้ประโยชน์ โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมไปถึงการควบคุมและป้องกันการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมายและแผนระดับชาติ (NPOA) และ 4) ด้านการบริหารจัดการองค์การ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการในภาคการประมงให้ประสบความสำเร็จ โดยจะมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ มีการส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในหน้าที่ที่รับผิดชอบ พัฒนาระบบงานสารสนเทศไปสู่ Big data เพื่อเป็นคลังข้อมูลในการวางแนวทางการตัดสินใจในข้อมูลต่างๆ รวมทั้ง การมุ่งเน้นให้มีการสร้างงานวิจัยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าสินค้าประมงในโอกาสนี้ ยังได้ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 4 แห่งๆละ 1,000,000 ตัว ดังนี้ 1) ภาคกลาง บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2) ภาคเหนือ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา 3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ 4) ภาคใต้ แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการประมงไทย เช่นเกษตรกรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น และเกษตรกรแปลงใหญ่ดีเด่นอีกด้วย
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมประมง ได้มีการส่งเสริมอาชีพประมงให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยมีพื้นที่ 2 จุด คือ จ.พิษณุโลก และลุ่มเจ้าพระยา มีจำนวนพื้นที่ล้านกว่าไร่ ซึ่งเมื่อมีการปล่อยน้ำเข้าทุ่งแล้วนั้น ทางประมงจังหวัดได้นำพันธุ์สัตว์น้ำไปปล่อย ทำให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมคือการจับปลา นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้องค์การสะพานปลาเข้าไปดูแลและรับซื้อปลาด้วย อีกทั้งยังมอบหมายให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดหาตลาดรองรับให้เกษตรกรมีสถานที่จำหน่ายสินค้าได้ต่อไป