กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 24 กันยายน 2561 ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยใน 23 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 3 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 9 อำเภอ 42 ตำบล 295 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,966 ครัวเรือน 32,682 คน ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 24 กันยายน 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา สตูล และตราด รวม 120 อำเภอ 530 ตำบล 2,973 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72,680 ครัวเรือน 232,052 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี หนองคาย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ นครพนม ตราด สกลนคร เพชรบุรี น่าน และสตูล
ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย3 จังหวัด รวม 9 อำเภอ 42 ตำบล 295 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,966 ครัวเรือน 32,682 คน แยกเป็น
ลุ่มน้ำบางปะกง 3 จังหวัด ได้แก่
นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี รวม 19 ตำบล 140 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,588 ครัวเรือน 25,462 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 1,040 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี และอำเภอบ้านสร้าง รวม 8 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 641 ครัวเรือน 2,051คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรบางพื้นที่
ฉะเชิงเทรา ฝนที่ตกหนักทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงล้นทางระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอแปลงยาว อำเภอบางคล้า อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอพนมสารคาม รวม 15 ตำบล 91 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,737 ครัวเรือน 5,169 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วเร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ท้ายนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป