กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
จากข้อมูลของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย ในปี 2550 พบว่า เด็กไทยกำลังประสบภาวะโรคอ้วน ซึ่งคาดว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า จะมีเด็กที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน หรือจะมีเด็กที่น้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก อาจตอบได้โดยผลการวิจัยของ สำนักงานกองทุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่พบว่าเด็กไทยในระดับ ป.5-ม. 3 กว่าครึ่งใช้เงินที่พ่อแม่ให้ไปโรงเรียนในการซื้อขนมหวานประเภทขบเคี้ยวกรุบกรอบ ซึ่งเป็นปัญหามาก เพราะการที่เด็กติดในรสชาติขนมหวานซึ่งไม่มีประโยชน์ทำให้ฟันผุและมีปัญหาสุขภาพตามจากความอ้วนตามมา
นอกจากขนมหวานเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือเด็กอ้วนมักกินอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันในปริมาณสูง แต่กินผักและผลไม้ต่ำ จากผลการวิจัยเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กอาจจะยังไม่ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับการเลือกอาหาร จึงยังไม่เข้าใจในการเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์
ปัญหาภาวะโภชนาการในวัยเด็กนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงเด็กในเมือง แม้ในชุมชนชนบทห่างไกลก็ยังมีเด็กที่มีปัญหาทางด้านโภชนาการเกิน และยิ่งไปกว่านั้นเด็กชนบทยังมีปัญหาซ้ำซ้อน ทั้งภาวะเกินและขาดทางด้านโภชนาการคือมีทั้งเด็กอ้วนและเด็กน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
โรงเรียนบ้านตากแดด โรงเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนแค่ไม่ถึงร้อยคน ตั้งอยู่ที่ บ้านตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ในชนบทบนเนินเขาที่ห่างจากชุมชนเมืองก็มีปัญหาโภชนาการของเด็กเช่นกัน ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กที่นี่มีทั้งเด็กอ้วนและเด็กผอม
"แต่ก่อนเด็กที่นี่ชอบกินขนมขบเคี้ยว สาเหตุเกิดเพราะเมื่อช่วงยางพาราราคาดี พ่อแม่มีเงินให้เด็กไปซื้อขนม เด็กก็เลยติดขนม ติดหวาน จนมาถึงเวลานี้เศรษฐกิจไม่ดีเท่าเดิม พ่อแม่มีเงินลดลง แต่เด็กก็ยังชอบกินขนมหวานประเภทลูกอมของขบเคี้ยวด้วย" จันทร์เพ็ญ ฉายแสง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตากแดด อธิบาย
จากการสำรวจเมื่อกลางปี 2560 พบว่า นักเรียนบ้านตากแดดกินผักเพียงเล็กน้อย กินขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มรสหวานทุกวัน และปัญหาภาวะโภชนาการเกิดจากครอบครัวขาดความรู้ มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพและวิถีชีวิตในครอบครัว ผู้ปกครองจึงไม่มีโอกาสใส่ใจบุตรหลานเรื่องภาวะโภชนาการ ส่งผลให้เด็กไม่กินผัก ทางโรงเรียนจึงหันมาสนใจเรื่องภาวะโภชนาการโดยเน้นที่อาหารกลางวันของนักเรียนเป็นพิเศษ
"โรงเรียนมีหน้าที่จัดการอาหารกลางวันให้เด็กทุกคน แต่เดิมเมนูไม่ได้กำหนดไว้ก่อน แม่ครัวเป็นคนกำหนดเมนูเองโดยไม่มีส่วนร่วมจากครู ผู้ปกครองและตัวนักเรียน ประกอบกับทางโรงเรียนปลูกข้าวไร่ กล้วย พืชผักสวนครัวมีพอกินตลอดปี เมื่อเห็นว่าเด็กหลายคนมีปัญหาการกินผัก เลือกผักวางทิ้งไว้ข้างจานเสมอ จึงหันมาสนใจทำโครงการนี้ขึ้น" กนกพร คงยศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตากแดดกล่าว
จากปัญหาการไม่กินผักจนส่งผลเสียต่อภาวะโภชนาการในเด็ก ทาง โรงเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น จึงได้ร่วมมือกันอย่างบูรณาการและจัดทำโครงการ "หนูน้อยบ้านตากแดดน่ารักด้วยผักผลไม้" ขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
"เรามาช่วยคิดเมนู เปลี่ยนไปเรื่อยในแต่ละวันไม่ให้ซ้ำกัน ทางโรงพยาบาลก็มาช่วยว่าเมนูไหนดีต่อสุขภาพ แล้วก็มีการประกวดกันให้พ่อแม่มาสาธิตการทำอาหารเมนูใหม่และเด็กๆ มาช่วยกันทำ เป็นบรรยากาศดีมาก ได้เมนูใหม่ที่ดีต่อสุขภาพและเด็กๆ ชอบอย่างเช่นส้มตำผลไม้และข้าวผัดผักสามสี" ประภาพร ชูดวง ผู้ปกครองแกนนำส่งเสริมการบริโภคผักกล่าว
ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน สาธารณสุข และชุมชน โดยที่ตัวของนักเรียนเองก็มีส่วนร่วม แม้จะเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน แต่ละเอียดอ่อนโดยใช้สายใยในครอบครัวและชุมชนจนเกิดเป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความร่วมมือจากเด็กนักเรียนทั้งทางด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินผัก และความร่วมมือจากชุมชนผู้ปกครองในการมาช่วยกันลงแรงปลูกผักผลไม้ในพื้นที่โรงเรียนสำหรับเป็นอาหารกลางวันแก่เด็ก และการนำเอาผักผลไม้ที่ปลูกไว้มาให้เด็กกินในโครงการอาหารกลางวัน
ผลลัพธ์น่าพอใจคือเกิดคณะทำงานร่วมกำหนดรายการอาหาร ซึ่งแม่ครัวก็จะทำอาหารกลางวันตามเมนูที่คณะทำงานกำหนดไว้ ทำให้ได้เมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเด็กๆ ก็ชื่นชอบไปพร้อมๆ กัน และเพื่อเน้นย้ำให้เกิดความมั่นใจว่าเด็กจะกินผักแน่นอนและนิสัยการกินผักจะติดตัวไป ทางโรงเรียนได้จัดให้มีนักเรียนแกนนำชวนน้องกินผัก คอยดูแลเด็กในกลุ่มเป้าหมายคือเด็กที่มีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และเด็กอ้วน
"เดี๋ยวนี้เด็กกินผักเยอะขึ้นไม่เหมือนเมื่อก่อน น้องกินผลไม้และผักได้ทุกชนิด ยกเว้นแต่ผักคะน้า ที่น้องๆ ไม่ค่อยชอบต้องชวนให้กิน กะหล่ำปลีเคยผัด 3 หัวเดี๋ยวนี้ผัด 5-6 หัว แต่ก่อนครูต้องมาดูมาแนะนำทุกวัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว แค่น้องๆ แกนนำช่วยดูก็พอ แต่ก่อนผลไม้ก็ไม่เน้นไม่มีให้กินทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้เด็กกินตลอด กล้วยในโรงเรียนก็ปลูกเองมีเหลือเฟือ ผลไม้ก็มีผู้ปกครองเอามาช่วย เด็กก็กินกันหมด ไม่มีผักเหลือติดจานอีกแล้ว" อรรวินท์ โจ้งบุตร นักเรียน ป.6 แกนนำชวนน้องกินผักเล่าให้ฟัง
เพียงสามเดือนหลังจากเริ่มโครงการ นอกจากตัวเลขค่าน้ำหนักของเด็กทั้งอ้วนและผอมดีขึ้นอย่างชัดเจน คำบอกเล่าของ ดวงประทีป รักตน แม่ครัวโรงเรียนบ้านตากแดด ผู้สวมหมวกอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านด้วยคงอธิบายได้ดีที่สุดถึงความสำเร็จของโครงการ
จากการรณรงค์เรื่องภาวะโภชนาการของเด็กนอกจากจะส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกผักกินผักมากขึ้นแล้ว โครงการลดสารพิษในผักที่ปลูกตามคร้วเรือนที่นำร่องมาโดยหน่วยงานสาธารณสุขก็ขยายผลตามไปด้วยทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านตากแดดเริ่มหันมาสนใจปลูกผักแบบปลอดสารพิษกินเองในครอบครัว
ผลสำเร็จในการสนับสนุนกระบวนการสร้างความเข้มแข็งเกิดความร่วมมือสามประสานคือ ครูแกนนำ นักเรียนแกนนำ และผู้ปกครองแกนนำ ภายใต้คำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในชุมชน ผลก็คือเกิดองค์ความรู้ทางด้านสาธารณสุขแขนงต่างๆ ได้ถูกนำไปขยายผลผ่านเด็กนักเรียนและส่งต่อไปยังพ่อแม่และผู้ปกครอง กลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายผลจากโรงเรียนไปสู่สร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี.