กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เส้นทางลัดย่อมเป็นทางเลือกของผู้ขับขี่รถยนต์บนท้องถนน เพราะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเส้นทางจากจังหวัดพังงาสู่อำเภอตะกั่วป่า หากผู้ขับขี่เลือกเส้นทางข้ามเขาไปทางตำบลกะปง ซึ่งเป็นทางลัด ก็จะสามารถประหยัดเวลาไปถึงครึ่งชั่วโมง และร่นระยะทางไปได้ราวสามสิบกิโลเมตร
นอกจากผู้สัญจรทั่วไปแล้ว เส้นทางกะปงยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพังงาเนื่องจากตำบลกะปงเป็นพื้นที่สูงของจังหวัดพังงาที่รถยนต์เข้าถึง ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ และอุทยานแห่งชาติคลองพนม (ภูตาจอ) กะปงจึงเป็นพื้นที่สูงที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวของพังงาด้วยจุดชมทะเลหมอก ดอกไม้และพืชผักเมืองหนาว แหล่งเกษตรอินทรีย์และธรรมชาติสวยงามด้วยป่าเขา น้ำตก และธารน้ำร้อน
แม้ว่าทางหลวงหมายเลข 4090 สู่ตำบลกะปงจะได้รับการดูแลจากหน่วยงานรับผิดชอบอย่างดีแต่ด้วยภูมิอากาศร้อนชื้นฝนตกบ่อยของภาคใต้ และเส้นทางสูงชันคดเคี้ยวเป็นบางตอนทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบนเส้นทางสายนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะที่บ้านท่ากะได ซึ่งตั้งอยู่ตรงทางลาดตรงยาวลงมาจากบนเขา เป็นจุดเสี่ยงอุบัติเหตุอย่างมาก ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ยังเคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนหลายครั้ง จึงเป็นที่มีของการรวมตัวกันเพื่อหาหนทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
"ที่นี่ฝนตกชุกมาก ถ้าขับรถเร็วเกินกำหนดหรือไม่ชำนาญเส้นทางจะเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะตอนฝนตก โดยมากจะเป็นคนนอกพื้นที่ ชาวบ้านมักจะรู้ปัญหา แต่ก็ยังประสบอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ไม่ร้ายแรง" อดิศักดิ์ งามแป้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านท่ากะได ซึ่งเป็นหมู่บ้านหน้าด้านก่อนเข้าตัวสู่ตำบลกะปงกล่าว และอธิบายว่า สภาพถนนหลักและถนนในหมู่บ้านนั้นมีสภาพดี ทำให้ผู้สัญจรใช้ความเร็วได้ดี แต่เมื่อฝนตกจะมีปัญหาจากเมือกน้ำที่ไหลจากรถขนส่งปลาสด และก้อนยางที่ตกหล่นอยู่ตามพื้นถนน อีกทั้งยังมีเศษวัสดุก่อสร้างพวกดินและทรายซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้รถลื่นไถลได้
"และนอกจากนั้น มีกิ่งไม้ต้นไม้คลุมทางมาก เวลาฝนตก ความชื้นสูง ถนนจะแห้งยาก และยังมีต้นหญ้าขึ้นข้างทางทำให้เกิดน้ำท่วมขังเพราะหญ้าไปกันไม่ให้น้ำระบายลงขอบถนน" ผู้ใหญ่อดิศักดิ์อธิบาย
ปัญหาที่ถูกมองด้วยความเป็นห่วง ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้หันหน้าเข้าหากันและร่วมหาทางออก ด้วยการร่วมมือในชุมชนประกอบกับการช่วยเหลือของหลายฝ่าย หนทางจัดการแก้ไขปัญหาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิด กระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ เกิดเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนที่สามารถสรรหารูปแบบการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนไปในทางดีขึ้นที่ดำเนินงานภายใต้ "โครงการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนบ้านท่ากะได ตำบลกะปง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา"
"เราเป็นคนในพื้นที่ รักบ้านเกิด อยากให้ชุมชนได้รับความปลอดภัยอย่างยั่งยืน โครงการของ สสส. ทำให้ชุมชนหันมาใส่ใจเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ทำให้เรามีสภาผู้นำ โดยนำงบมาใช้ทำป้ายเตือนจุดเสี่ยงและปรับปรุงสองข้างทางถนน" ผู้ใหญ่อดิศักดิ์กล่าว
แนวทางการทำงานของชุมชนบ้านท่ากะไดนั้นบางส่วนก็สามารถจัดทำได้เอง แต่บางส่วนก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง เนื่องเพราะในพื้นที่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วย
"เราต้องประสานกับหน่วยงานหลายหน่วยเกือบสิบหน่วย มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. นายอำเภอ และยังต้องประสานงานกับหน่วยงานป่าไม้ด้วย ทั้งหน่วยป่าสงวนแห่งชาติและอุทยาน เพราะหมู่บ้านของเราทั้งหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งพื้นที่ แต่เราก็ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือดีมาก" พิสิฏฐ์ ชูสังข์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติหน้าที่เลขาโครงการจัดการจุดเสี่ยงฯ อธิบายถึงข้อจำกัดและความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการทำงานร่วมกับชุมชน
จากการประชุมสภาผู้นำ กำหนดแผนงาน และร่วมมือกับคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนบ้านท่ากะไดสามารถกำหนดแนวทางการทำงานและลงมือทำอย่างได้ผล เริ่มจากการตัดใบปาล์มและกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาตามแนวถนน ที่คอยบดบังทัศนวิสัย การตัดหญ้าปกคลุมถนนที่ทำให้ถนนแคบลง รถแล่นสวนทางลำบาก และยังทำให้ถนนลื่น มีการจัดทำป้ายเตือนอันตรายจากการจราจรตามจุดต่างๆ ที่ชาวบ้านสามารถทำกันเองได้
ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับสายไฟตามถนนที่มีต้นไม้ปกคลุม ก็ได้ประสานงานให้การไฟฟ้ากะปง และ อบต. ท่านามาจัดการ ซึ่งนับได้ว่า จุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในหมู่บ้านที่มีอยู่ 15 จุดและจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนสายหลัก 8 จุด ชาวบ้านสามารถจัดการเองได้ถึงร้อยละ 80
ซึ่งจากการสนับสนุนของ สสส. ได้ก่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานออกไปสู่เรื่องอื่นๆ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งในรูปแบบสภาผู้นำ ที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการที่ดี สามารถสร้างความสำเร็จให้แก่ชุมชนบนความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านจนทำให้อุบัติเหตุต่างๆ ลดลง
จากปัญหาจุดเสี่ยงยังได้ถูกขยายผลไปสู่ กิจกรรมการเก็บขยะที่กลาดเกลื่อนตามท้องถนนเนื่องจากการทิ้งขว้างของผู้ใช้รถใช้ถนนที่สัญจรผ่าน ที่ได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ติดริมถนนเกิดความตระหนักและหันมาใส่ใจความสะอาดหน้าบ้านตนเองมากขึ้น หน้าบ้านจึงสะอาดและน่ามองมากขึ้นด้วย
และจากการใส่ใจเรื่องขยะตามแนวถนน ต่อเนื่องมาจนถึงน่าบ้านน่ามอง ชุมชนแห่งนี้ยังพบปัญหาสุขภาวะใหม่ในพื้นที่ขึ้น โดยพบว่าตามขอบทางถนนสายหลักช่วงบนภูเขา เนื่องจากมีการติดตั้งขอบปูนแบริเออร์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ จึงมีผู้มักง่ายแอบเอาขยะเป็นจำนวนมากไปทิ้งไว้หลังแบริเออร์ซึ่งเป็นที่ลับตา
จากการที่สมาชิกในชุมชนแห่งนี้ไปเก็บมาตรวจสอบ พบว่าเป็นขยะจากต่างถิ่นมัดใส่ถุงมาแอบทิ้ง ซึ่งมีขยะทุกประเภททั้งขยะเน่าเสียและขยะมีพิษ ซึ่งบนภูเขาแห่งนี้เป็นต้นน้ำธารกะปงซึ่งไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง ขยะเหล่านี้จึงเป็นสิ่งปนเปื้อนที่อยู่บนต้นน้ำของชุมชน ซึ่งเมื่อฝนตกสารพิษจากสิ่งของที่เน่าเสียเหล่านี้ก็อาจจะไหลลงมายังลำธารต้นน้ำและเหมืองฝายต่างๆ สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของคนในชุมชนได้
"พวกเราชาวบ้านซึ่งมีจิตอาสาจึงช่วยกันไปเก็บเอาลงมารวบรวมไว้ด้านล่าง ซึ่งผมจะประสานให้ทาง อบต. มาจัดเก็บขยะเหล่านี้ไปจัดการตามหลักสุขาภิบาลต่อไป" ชลิต นรินทร สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่านา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของชุมชนอธิบาย และกล่าวเสริมว่าบริเวณที่มีคนมาทิ้งขยะนั้นอยู่บนป่าเขา ไม่สามารถจัดเวรยามไปเฝ้าระวังห้ามปรามผู้ทิ้งได้ เพราะผู้ทิ้งขยะมาจากนอกชุมชนและอาจจะมาในตอนกลางคืน นอกจากตามเก็บลงมากำจัดด้านล่างแล้ว ทางคณะทำงานจะทำป้ายห้ามทิ้งขยะไปติดตั้งเพื่อลดปัญหา
จากจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่นอกจากสามารถลดอุบัติเหตุในหมู่บ้านท่ากะไดลงไปได้ ลดความเสียหายทั้งเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ และการบาดเจ็บเสียชีวิตจากผู้ที่สัญจรผ่านเส้นทาง ยังขยายผลไปจนก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันรักษาความสะอาดในชุมชนและพื้นที่ต้นน้ำได้อีกด้วย ซึ่งการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมไปได้อย่างต่อเนื่องย่อมแสดงถึงแนวโน้มความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยที่ชุมชนสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเองได้เป็นอย่างดี