กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
สมาชิกชุมชนบ้านน้ำใส หมู่ 7 ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังเผชิญกับปัญหาขยะอย่างหนัก เนื่องจากในพื้นที่มีบ่อทรายของเอกชนที่ขุดขายไปแล้วปล่อยให้ทิ้งร้างมีจำนวนมากถึง 15 บ่อ หนึ่งในนั้นบ่อทรายขนาดใหญ่เนื้อที่ 50 ไร่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่รับน้ำและเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำของคนในชุมชน แต่บ่อทรายเหล่านี้มีขยะตกค้างจากการไหลบ่าของน้ำที่พัดพาขยะมา มีปริมาณปีละ 1-2 ตัน
นอกจากนี้การปล่อยให้ชาวบ้านนำสิ่งของวัสดุต่างๆ มาถมทิ้งในบ่อน้ำเพื่อให้ได้พื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม มีทัศนียภาพไม่น่ามอง และมีขยะอันตรายปะปนอยู่ด้วย เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาวะในชุมชน แกนนำชุมชน หมาน เจ๊ะหมัด กรรมการมัสยิดบ้านน้ำใส จึงชักชวนชาวบ้านลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา ด้วยการดำเนินโครงการ "การจัดการขยะในชุมชนบ้านน้ำใส" เพื่อทำชุมชนแห่งนี้ให้กลับมาน่าอยู่อีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แกนนำหมู่บ้านเล่าว่าหมู่บ้านน้ำใสเป็นชุมชนผสมผสาน 2 ศาสนา มีชาวไทยมุสลิมร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นชาวไทยพุธ อาศัยอยู่อย่างสงบสุขเกื้อกูลกันดี มีการรวมตัวเป็นกลุ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆมากกว่า 10 กลุ่ม สมาชิกชุมชนมีฐานะค่อนข้างยากจน ประกอบอาชีพเกษตรทำสวนยางพารา ทำนาและรับจ้าง
ในหมู่บ้านมีปราชญ์ท้องถิ่นและศิลปินพื้นบ้านอยู่หลายคน ทั้งหนังตะลุง เพลงบอก มโนราห์ นับว่าเป็นต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ดีของหมู่บ้าน แต่ขณะเดียวกันก็มีบ่อทรายร้างของเอกชนหลายแห่ง บ่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเป็นที่รับน้ำและเป็นแหล่งทำประมง มีทัศนียภาพที่สวยงาม แต่ยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถกำจัดได้หมด และเห็นว่าหากได้รับการพัฒนาให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
แกนนำชุมชนจึงได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่จากเจ้าของบ่อ และสร้างกระบวนการเรียนรู้การคัดแยกขยะให้แก่สมาชิกชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่จะส่งผลต่อสุขภาวะ จนชุมชนให้การตอบรับและตื่นตัวมากขึ้น เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันวางแผนจัดการปัญหาขยะให้เบาบางลง
"หมู่บ้านเราเจอปัญหาขยะไหลมาทางน้ำปีหนึ่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง ขยะไหลมาจากหลายหมู่บ้านขยะอีกส่วนหนึ่งมาจากมนุษย์ เอาขยะมาทิ้งในบ่อ เราก็พยายามยามพูดให้เข้าใจถ้ามีขยะเยอะโรคก็จะเยอะ ลูกหลานเราที่อยู่ในชุมชนก็จะรับไปเต็มๆ เราพูดบอกชาวบ้านบางคนก็เชื่อ ถ้าในบ้านของเราไม่มีขยะ อย่างหนึ่งเราได้ความสบายใจ และไม่เป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน ผมบอกให้ชาวบ้านคัดแยกขยะอยู่เสมอๆ ส่วนที่ขายได้เรานำไปขาย บางส่วนที่ย่อยสลายเอามาเป็นต้นทุนทำปุ๋ยได้ มีการทำนำไปใช้บ้างแล้ว จะบอกชาวบ้านตลอดว่าอย่าเอาขยะจากตลาดมาใส่ในบ้านเรา ลดการใช้ถุงพลาสติกมันก็จะทำให้ขยะน้อยลง ชาวบ้านเองให้ความร่วมมือเข้าใจวิธีการแยกขยะเป็นอย่างดี" หมาน เจ๊ะหมัด กรรมการมัสยิดบ้านน้ำใสกล่าว
ซึ่งแกนนำชุมชนยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า ถ้าหากชุมชนของเราสามารถพัฒนาบ่อทรายร้างให้มีความสะอาดร่มรื่นไม่มีขยะ นำเอาสินค้าในชุมชน จุดเด่นต่างๆที่มีอยู่มาจำหน่าย จะช่วยสร้างงานนำรายได้เข้าสู่ชุมชน เพราะเป็นพื้นที่ที่สวยงามและอยู่ไม่ไกลจากสนามบินนครศรีธรรมราช
"ชุมชนของเราส่วนใหญ่ยากจนที่ทำนา มีสวนยางมีน้อย ส่วนใหญ่รับจ้าง หาเช้ากินค่ำ บางบ้านก็รับจ้างแกะกระเทียม รับจ้างมีรายได้เล็กๆน้อยๆ ถ้าพัฒนาตรงนี้ได้ก็จะช่วยสร้างรายได้ แต่เราต้องทำตรงนี้ให้สะอาด บ่ออื่นๆด้วยจะต้องไม่มีการทิ้งขยะลงไป เพราะมันส่งผลกระทบต่อชุมชนและลูกหลานของเรา" หมาน เจ๊ะหมัด ระบุ
ทางด้าน ทวี กาจิริกา ศิลปินหนังตะลุงและเพลงบอกพื้นบ้าน หรือที่รู้จักในนาม "หนังทวีอัศวิน เพลงบอกทวีอัศวิน" หนึ่งในสมาชิกของหมู่บ้าน มองเห็นว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องร้ายแรงของหมู่บ้านน้ำใสต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชุมชนทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ปัจจุบันชาวบ้านเกิดความตื่นตัวรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และยังเห็นว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องไม่ยากสามารถเริ่มต้นได้ในครัวเรือน แต่ขยะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากคนภายนอกหมู่บ้านนำปัญหาเข้ามา
"อย่างข้างบ้านลุงนี่มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง เจ้าของอยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่เขาไปหาคนมาต้องการให้ทิ้งขยะในที่ดินของเขาเพื่อต้องการถมที่ แต่ถมแบบมีมลพิษห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เขาใช้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินตรงนั้น เราพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความสะอาดตรงนี้ คนในหมู่บ้านของเราไม่ค่อยทิ้งเท่าไร ส่วนใหญ่มาจากต่างหมู่บ้าน มาจากต่างตำบล บางทีมาจากต่างอำเภอ เราไม่รู้ว่าเจ้าของที่อยู่ไหน นี่จะไปสืบกันจะไปจับเข่าคุยขอร้องเขาว่าอย่าทำอย่างนั้นเลย เพราะบ้านผมมันสกปรกที่ของท่านมีความสุขตรงนั้นนิดเดียวแต่พวกผมเดือดร้อนทั้งหมู่บ้าน ผมกับคณะกรรมการและผู้ใหญ่บ้านก็จะคงต้องไปคุยกับเขา" ลุงทวี กล่าว
ขณะที่ ยุโซ๊ะ อิสลาม เกษตรกรชาวชุมชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้บ่อทรายร้างเนื้อที่ 50 ไร่ เปิดเผยว่าต้องเผชิญกับปัญหาขยะทุกปี โดยเฉพาะในฤดูฝน เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำทำให้ขยะจากหมู่บ้านอื่นไหลมาอยู่ที่นั่น ขยะบางส่วนตกค้างอยู่ในบริเวณบ้านของเขาด้วย บางปีมีน้ำท่วม 4-5 รอบ หลังน้ำลดจึงเก็บคัดแยก ส่วนใดที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ก็จะเก็บไว้ใช้ ส่วนที่ทำเป็นปุ๋ยได้ก็จะนำไปทำปุ๋ยไว้ใส่ต้นไม้
"บ้านผมอยู่ใต้น้ำ พอเดือน 12 น้ำมาขยะก็ลอยมาเต็มไปหมด ปล่อยมาจากบ้านคนอื่นทั้งนั้น อยากขอร้องว่าอย่าปล่อยขยะมาเลย ขยะในบ้านของผมมีไม่มากก็แยกเก็บ อันไหนขายได้ก็ขาย อันไหนทำปุ๋ยได้ก็ทำปุ๋ย ผมไปเรียนรู้เรื่องทำปุ๋ยที่พรหมคีรีก็นำวิธีการมาใช้" ยุโซ๊ะ กล่าววิงวอนขอความเห็นใจ
การดำเนินงานจัดการขยะในหมู่บ้านน้ำใสเริ่ม แม้เพิ่งเริ่มต้นขับเคลื่อนงานได้ไม่นานนักแต่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวบ้านมีตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงร่วมกันเรียนรู้กระบวนการจัดการปัญหา โดยแสวงหาความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และตัวแทนกลุ่มต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนให้ลดลง โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันสร้างชุมชนแห่งนี้ให้มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามและน่าอยู่อาศัย อันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกในชุมชนจากการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป.