กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น (Ministry of Health, Labour and Welfare - MHLW) ได้ประกาศใช้ Positive List System กำหนดค่าสูงสุดของสารเคมีทางการเกษตรที่อนุญาตให้มีได้ (Maximum Residue Limits - MRLs) ในสินค้าเกษตรและอาหารโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นมานั้น ล่าสุด MHLW ได้แจ้งว่าจะทำการแก้ไขข้อกำหนดของยาฆ่าเชื้อราและยาสำหรับสัตว์ โดยสรุปสาระสำคัญคือ
ชื่อสารเคมี ตัวอย่างสินค้า ข้อกำหนดเดิม ข้อกำหนดใหม่
1. Carpropamid ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ - ไม่เกิน 0.6 ppm
(ยาฆ่าเชื้อรา) ถั่ว มะม่วง กล้วย ฯลฯ ไม่เกิน 0.1 ppm -
2. Tebuconazole มะนาว ส้ม ลูกแพร์ ฯลฯ - ไม่เกิน 5.0 ppm
(ยาฆ่าเชื้อรา) สับปะรด ไม่เกิน 1.0 ppm -
ถั่วเขียว ไม่เกิน 0.3 ppm ไม่เกิน 0.5 ppm
สมุนไพร ไม่เกิน 0.5 ppm ไม่เกิน 2.0 ppm
3. Tilmicosin(ยาสำหรับสัตว์) ปลาแซลมอน ปลาไหล ปลาหมึกและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ไม่เกิน 0.05 ppm -
เอ็นและไขมันไก่ ไม่เกิน 0.08 ppm ไม่เกิน 0.07 ppm
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอาหารเป็นอย่างมาก จึงได้ปรับข้อกำหนดเกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตรเป็นระยะๆ ผู้ผลิตจึงควรระมัดระวังในการใช้สารเคมี รวมทั้งติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาในการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น โดยสามารถค้นหาค่า MRLs ของสารเคมีทางการเกษตรสำหรับสินค้าต่างๆได้ที่ เว็บไซต์ http://www.mhlw.go.jp/english/index.html
อนึ่ง ในปี 2547-2549 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 130,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 18,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร