กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
วันที่ 23 กันยายน ที่งานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 อิมแพ็ค เมืองทองธานี – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศผลจ้าวเวหา แชมป์แข่งขันบังคับโดรนในศึกปีกหมุนประลองปัญญา : โดรนมิชชั่น ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทปีกหมุนประลองปัญญา แบบปีกหมุน 4 ใบพัด โดยมีดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นประธานมอบถ้วยรางวัลในครั้งนี้ สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ประเภทปีกหมุนประลองปัญญา (Drone Mission) สนามชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ประจำปี 2561 ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 1 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม ทีม B ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 2 โรงเรียนขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 3 โรงเรียนเซนต์แอนโทนี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 4 ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเด็กได้ทำงานเป็นทีม รักษากฎ กติกา รักษาเวลา และมีความเข้มแข็ง ที่สำคัญสอนให้เด็กใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพ ให้เด็ก ๆ สามารถเขียนโปรแกรมได้ โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่เชื่อมโยงกับดิจิทัลเราพยายามหากิจกรรมที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กหันมาสนใจเทคโนโลยีที่นอกจากจะเพื่อความเพลิดเพลินแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคด้วย
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ดีป้า ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกันจัดการแข่งขันอากาศยานปีกหมุน "ปีกหมุนประลองปัญญา (Drone Mission)" ชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2561 ในงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ฝึกฝนทักษะการบิน และสร้างแรงบันดาลใจ และดึงผู้ที่มีศักยภาพให้เข้ามาสัมผัสและเห็นถึงความสำคัญของโดรนที่จะเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจในอนาคต
"การบังคับโดรน ไม่ได้มีแค่ความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่การบังคับโดรนยังช่วยฝึกทักษะด้านร่างกาย ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของมือและสายตาขณะควบคุมโดรนด้วยรีโมต ฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการสอนให้เด็กๆ รู้จักการวางแผน เชื่อมโยงเหตุและผล เมื่อพวกเขาต้องเลือกคำสั่งต่างๆ เพื่อให้โดรนทำในสิ่งที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น กลไกของโดรนยังช่วยให้เด็กๆ ได้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือพื้นฐานวิศวกรรมง่ายๆ อีกด้วย"
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าววว่า "เรามีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบทั้งหมด 16 ทีม โดยผู้เข้ารอบมีตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย ต่อมาได้แข่งขันเหลือ 4 ทีมเพื่อเข้ารอบสุดท้าย ชิงจ้าวความเร็ว ในวันนี้ และการแข่งขันบังคับโดรนในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ทักษะ ปัญญาและไหวพริบเพื่อก้าวสู่ความเป็นแชมป์ ชิงเงินรางวัลกว่าแสนบาท
นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมแข่งขันโดรนมิชชั่น หรือ การแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ รายการ "หนูน้อยจ้าวเวหา" ที่จัดขึ้นนี้ เป็นกิจกรรมที่จัดมาต่อเนื่อง 17 ปี ซึ่งการได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมนี้ภายในงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 ไม่เพียงช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนความเป็นนักบิน แต่ยังได้เห็น ได้สัมผัส และเรียนรู้ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อยู่ในงาน ทั้งด้านการเกษตร ด้านแผนที่ และด้านอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากเยาวชนจะได้แรงบันดาลใจในการเป็นนักบินแล้ว ยังช่วยสร้างความตระหนักและความสำคัญของโดรนต่อภาคธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย เพราะการใช้โดรนบังคับในปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น การบินเพื่อสำรวจพื้นที่การเกษตร สามารถสร้างรายได้ครั้งละ 40,000 บาท หรือการทำแผนที่สำรวจอย่างอิมแพ็ค สามารถทำรายได้สูงถึง 2 แสนบาทเลยทีเดียว