กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น ๘ นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา เรื่อง การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในบริบทนิเวศสื่อปัจจุบัน โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาและผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อ นักวิชาการด้านสื่อ ผู้ผลิตสื่อ เครือข่ายเยาวชนที่ผลิตสื่อ และประชาชนเข้าร่วม โดยมีการบรรยายและเสวนาให้องค์ความรู้โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในด้านที่เกี่ยวข้อง อาทิ นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและกิจการกระจายเสียง (ประเทศไทย) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท และผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จากนั้นได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์การดำเนินงานร่วมกัน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องจากสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมทุกภาคส่วน ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน หากได้รับสื่อไม่ดีที่มีการแพร่หลายอาจทำให้พฤติกรรมเบี่ยงเบน ถูกชักจูงไปในทางที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่สื่อดีมีคุณภาพในปัจจุบันมีพื้นที่น้อยในสังคมและไม่มีงบประมาณที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสื่อ ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง สื่อที่เป็นภัยต่อสังคม รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้มากขึ้นและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคม วธ.จึงเร่งให้ความรู้แก่ผู้ผลิตสื่อทั่วประเทศ โดยจัดการเสวนา เรื่อง "การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในบริบทนิเวศสื่อปัจจุบัน" ขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์เผยแพร่สู่สังคม รู้เท่าทันสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคม ตลอดจนลักษณะของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่าน ทั้งนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ ผู้ผลิตสื่อ และเครือข่ายเยาวชนผลิตสื่อ ตลอดจนประชาชนที่ให้ความสนใจมาร่วมการประชุม จะได้รับประโยชน์ รวมทั้งมีความเข้าใจ เกิดการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ในเรื่องการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในบริบทนิเวศสื่อปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผลงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพออกสู่สังคม และรับทราบกระบวนการในการขอรับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างถูกต้อง นำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับมาพัฒนาให้เกิดเป็นผลงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ เป็นสื่อที่พัฒนาสังคม และประเทศชาติ ก่อให้เกิดภาคีเครือข่ายร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างยั่งยืนต่อไป