กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.95เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 89.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมีผลรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านอย่างสิ้นเชิง ล่าสุดอิหร่านเหลือลูกค้าอินเดียเพียง 2 บริษัท ได้แก่ Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) และ Indian Oil Corp. (IOC) ขณะที่บริษัทอื่นๆ ของอินเดีย มีแผนหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแล้วเพราะบริษัทประกันภัย United India Insurance ยกเลิกการรับประกันเที่ยวเรือขนส่งน้ำมันดิบจากอิหร่าน ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันอิหร่านเฉลี่ยเดือน เม.ย.-ส.ค. 61 ที่ 658,000 บาร์เรลต่อวัน และลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 370,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. – ต.ค. 61 ปริมาณส่งออกที่ลดลงทำให้อิหร่านต้องเก็บน้ำมันดิบ ปริมาณรวม 17 ล้านบาร์เรล ที่เรือเก็บน้ำมันลอยลำในทะเล ( Floating Storages) ที่ประกอบด้วยเรือ VLCC จำนวน 8 ลำ และ Suez Max จำนวน 1 ลำ
- การเมืองโลกตึงเครียด หลังเครื่องบินตรวจการทางทหารของรัสเซีย ถูกระบบป้องกันภัยทางการอากาศของรัฐบาลซีเรีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย) ยิงตก มีผู้เสียชีวิต 15 ราย โดยรัสเซียกล่าวโทษเครื่องบินอิสราเอล ที่มักใช้เครื่องบินรัสเซียเป็นโล่กำบังแนวยิงขณะโจมตีทางอากาศต่อซีเรีย ทำให้เกิดความผิดพลาด ทั้งนี้ รัสเซียอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการมาตรการตอบโต้
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 394.1 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 และต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 และปริมาณสำรองที่ Cushing รัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 22.3 ล้านบาร์เรล ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น (Ministry of Finance) รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.1% มาอยู่ที่ 3.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักลงทุนกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทวีความรุนแรง ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump มีแผนตั้งกำแพงภาษีระลอกใหม่ในวันที่ 24 ก.ย. 61 โดยสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์จากจีน มูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 10% ก่อนจะเพิ่มเป็น 25% ในปลายปีนี้ (เมื่อรวมระลอกแรกจะมีมูลค่ารวมทั้งหมด 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ล่าสุด จีนตอบโต้สหรัฐฯ โดยกระทรวงการคลังจีนประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 60,000 ล้านเหรียญ มีผลบังคับใช้วันที่ 24 ก.ย. 61 โดยกำหนดอัตราจัดเก็บภาษี อยู่ที่ 5-10% โดยรวมสินค้าตั้งแต่ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เครื่องบิน ไปจนถึงผักแช่เย็น และผงโกโก้
- EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตสำคัญของสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย ปริมาณการผลิต Shale Oil จากแหล่ง Permian Basin เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 31,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ จำนวนหลุมที่ขุดเจาะแต่ยังไม่ผลิต (Drill but Uncompleted: DUC) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 211 หลุม อยู่ที่ 3,630 หลุม เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่ EIA เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ ก.ย. 59
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2% อยู่ที่ระดับ 3.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากประธานาธิบดี Xi Jinping มีนโยบายเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านพลังงาน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังตลาดเปิดเช้านี้ โดยเฉพาะ ICE Brent ซึ่งทะยานขึ้นไปเกือบแตะระดับ $80/BBL จากความตระหนกต่อสถานการณ์อุปทานน้ำมันดิบขาดตลาด เพราะ OPEC มีแนวโน้มไม่สามารถเพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่ลดลงของเวเนซูเอลาจากปัญหาขาดสภาพคล่อง และอุปทานที่ถูกตัดทอนของอิหร่านจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานจากแหล่งข่าวของ OPEC ว่า OPEC และพันธมิตรนอกกลุ่มหารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมกันเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบอีก 500 KBD ขณะประชุมพิเศษที่ประเทศแอลจีเรียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตัวเลขการผลิตของ OPEC ในเดือน ส.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าแม้ประเทศสมาชิกที่เหลือ นอกจากเวเนซูเอลาและอิหร่านจะพยายามผลิตเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุดยังไม่มีข้อสรุปในเชิงแถลงการณ์ร่วมจากผลการประชุมแต่อย่างใด ซึ่งล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih ให้สัมภาษณ์ว่าตนมิได้ชักใยราคา และมติการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นของ OPEC และพันธมิตรยังไม่จำเป็นในขณะนี้ แต่อาจจะเป็นปีหน้า ซึ่งนาย al-Falih ยืนยันว่าซาอุฯ มีกำลังการผลิตส่วนเหลือ (Spare Capacity) กว่า 1.5 MMBD และสามารถนำออกมาใช้ได้หากจำเป็น ส่วนทางด้านอิหร่านแสดงท่าทียินยอมให้ประเทศสมาชิกอื่นผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นได้ หากปริมาณการผลิตที่ลดลงของกลุ่มมิได้มาจากอิหร่านเพียงผู้เดียว (ก่อนหน้านี้อิหร่านเคยยืนกรานว่าจะไม่ยอมให้สมาชิกอื่นมาแย่งส่วนแบ่งตลาด) อย่างไรก็ตาม นาย Hossein Kazempour Ardebili ตัวแทนของอิหร่านในคณะกรรมการของ OPEC ยืนยันว่าการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 คงที่จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.8 MMBD แตกต่างจากการสำรวจของคณะที่ OPEC แต่งตั้ง ซึ่งตัวเลขลดลงมาอยู่ที่ 3.58 MMBD ด้านกองกำลังของรัฐบาลอิหร่าน Iranian Revolutionary Guard ร่วมกับกองทัพของอิหร่านปฏิบัติการซ้อมรบทางอากาศในอ่าวเปอร์เซียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประกอบด้วยฝูงบินที่มีเครื่องบินรบMirage ร่วมด้วย F-4 และ Sukhoi-22 ก่อนหน้านี้อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลก หากสหรัฐฯ ตัดช่องทางสร้างรายได้หลักของอิหร่าน ทางพลเอก Yousef Safipour ผู้บัญชาการทหารกองประชาสัมพันธ์กล่าวว่าหากศัตรูมุ่งร้ายต่อพรมแดนอิหร่าน จะได้รับการตอบโต้อย่างหนักหน่วง และในวันเสาร์ที่ผ่านมา กองทัพเรือของอิหร่านยังปฏิบัติการซ้อมรบทางทะเลด้วยเรือรบกว่า 600 ลำ ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนช่วยในการผลักดันราคาน้ำมัน ด้านวาณิชธนกิจ JP Morgan คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะทะยานขึ้นไปแตะ $90/BBL ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยราคาเฉลี่ย Brent และ WTI ในช่วงไตรมาสที่ 4/61 ถึงไตรมาสที่ 1/62 จะอยู่ที่ $85/BBL และ $76/BBL ตามลำดับ เนื่องจากคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจากอิหร่านจะขาดหายไปจากตลาดถึง 1.5 MMBD สูงกว่าที่สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดสัปดาห์นี้ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ69-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียแข็งแกร่งจากอุปสงค์ในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนส่งออกลดลง และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดีย รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซิน เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% อยู่ที่ 668,000 บาร์เรลต่อวัน และ Platts รายงาน sentiment ของนักลงทุนในตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียยังคงแข็งแกร่ง โดยผู้ค้าคาดว่าบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย Pertamina จะนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ประมาณ 11 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์และเป็นระดับสูงสุดในปีนี้ ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 234.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ส.ค.61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.4% อยู่ที่ 3.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน และบริษัท Nayara Energy ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 272,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 14-18 ต.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.07 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.43 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ )รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 690,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.48 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 88-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลเดือน ส.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 2.7% อยู่ที่ 3.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนจากพายุไต้ฝุ่นในเอเชียเหนือ ทำให้โรงกลั่นบางแห่งไม่สามารถสูบถ่ายน้ำมันดีเซลลงเรือได้ และ Plattsรายงานโรงกลั่น Hainan (185,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec มีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน ก.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 7,500 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ปริมาณ 12,500 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.91 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม บริษัท Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.005%S ปริมาณ 600,000 บาร์เรล ส่งมอบ 10-12 ต.ค. 61 และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล อยู่ที่ 140.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.53 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 92-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล