กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
กูรูทิสโก้คาดไตรมาส 4 ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวเด่น อานิสงส์เศรษฐกิจโตกำไรบริษัทจดทะเบียนพุ่งแรง แนะช่วงปลายปีเริ่มหาจังหวะขายล็อกกำไร ก่อนปีหน้าเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากหลากปัจจัยลบ
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobpol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมไปถึงตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 4/2561 โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เห็นได้จากในไตรมาสที่ 2/2561 ที่ผ่านมากำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานผลกำไรเติบโต 18% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ (Bond Yield) ที่หากปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3.3% จะเริ่มกดดันมูลค่าหุ้น (Valuation) และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงได้
"TISCO ESU มองว่าตลาดหุ้นโลกในไตรมาส 4 น่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 4 ต้องจับตาดูความเสี่ยงจาก Bond Yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแรง เนื่องจาก 1) ในไตรมาสที่ 3-4 ปี 2561 สหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตทางเงินปี 2551 เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากนโยบายลดภาษีของประธานาธิบดี Trump และ 2) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ตัดสินใจขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เป็น -0.2% ถึง +0.2% จากเดิมซึ่งอยู่ระหว่าง -0.1% ถึง +0.1% ส่งผลให้ Bond Yield อายุ 10 ปี ของญี่ปุ่น ทะลุ 0.1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการใช้มาตรการ Yield Curve Control ในปี 2559 และทำให้ Bond Yield ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นตาม" นายคมศร กล่าว
ทั้งนี้ หากมองไปถึงปี 2562 ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจาก 1) ผลกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดภาษีของสหรัฐฯ เริ่มทยอยหมดลง 2) ผลกระทบจากสงครามทางการค้าจะเริ่มเห็นชัดขึ้น 3) เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงชะลอตัวจากการขึ้นภาษีบริโภคระลอกสองในช่วงเดือน ต.ค. และ 4) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินอ่อนค่ารุนแรงในช่วงนี้
นอกจากนี้ ในปี 2562 สภาพคล่องของโลกจะมีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก (Fed) ได้ทำการทยอยถอนสภาพคล่องออกจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยุติ QE ในสิ้นปี 2561 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ทยอยลดการซื้อสินทรัพย์ลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น มองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานในปี 2562 จึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาหาจังหวะขายทำกำไรในช่วงปลายปี 2561 นี้