กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--Med Agency
เมืองไทย เมืองพุทธ แต่แทนที่จะทำบุญได้กุศล อาจจะได้บาปโดยไม่รู้ตัว ขอให้คิดก่อนถวายอาหารคำนึงถึงอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ที่ก่อให้เกิดภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ
แม้กระทั่งสื่อต่างชาติ
เช่น สำนักข่าว ANNnewsCH ของญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องราวของพระไทย ที่กำลังประสบปัญหาโรคอ้วน จากอาหารที่ญาติโยมนำมาถวาย
ล่าสุด กอง บ.ก.เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจสาสุข sasook รายงานว่า นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต รวมทั้งเป็นสาเหตุการตายในอันดับต้นๆ ของประชาชน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องรักษาติดต่อกันนานหรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยต้องได้รับยาและติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขาดการควบคุม จะเกิดโรคแทรกซ้อน และอาจทำให้เสียชีวิตได้ จากข้อมูลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงฆ์ ระหว่างปี2558 – 2560 พบว่าพระสงฆ์อาพาธเข้ามารับการรักษาด้วยโรคต่างๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการฉันอาหารและการออกกำลังกายที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเนื่องจากพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มักตักบาตรด้วยอาหารสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่ายและสะดวก ซึ่งอาหารเหล่านั้นประกอบด้วยอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม หรือมีไขมันมากเกินไปทำให้พระสงฆ์ไม่มีโอกาสได้เลือกอาหารเพื่อสุขภาพมากนักจำเป็นต้องฉันอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตจึงทำให้เกิดภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน และจะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และภาวะแทรกซ้อนทางด้าน โรคหลอดเลือดได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไต
นายแพทย์สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์สามเณรในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อคัดกรองและค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคด้านภาวะโภชนาการ
เมื่อปี 2559 มีจำนวนพระสงฆ์สามเณรที่เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 5,989 รูป พบว่า ค่าดัชนีมวลกายเมื่อเปรียบเทียบกับ
ผลการสำรวจ ปี 2549พระสงฆ์สามเณรในเขตกรุงเทพมหานครมีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 13.8 เป็นร้อยละ 15.9 (ค่า BMI อยู่ระหว่าง 23.0 – 24.9กก.ตร.ม.)
และมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 18.0 เป็นร้อยละ 41.6 (ค่าBMI มากกว่า 25.0กก.ตร.ม.) และเมื่อมีการวัดขนาดเส้นรอบเอวพบว่ามีภาวะอ้วนลงพุงมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 14.0 เป็นร้อยละ 24.9 โดยมีเส้นรอบเอวมากกว่า90 เซนติเมตร
โรงพยาบาลสงฆ์จึงได้ถวายความรู้แด่พระสงฆ์สามเณรที่มีภาวะโภชนาการเกินและมีปัญหาโรคเรื้อรังเป็นระยะเพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการดูแล ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการอ้วนลงพุงประกอบด้วย 5 ข้อ ดังนี้ 1 เส้นรอบเอวเพศชายมากกว่า 90เซนติเมตร
2.ผลไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดมากกว่า 150เดซิลิตร 3. ดัชนีมวลกายมากกว่า 30กก.ม 24. ผลน้ำตาลในเลือดมากกว่า 110 เดซิลิตร 5.ความดันโลหิตมากกว่า 130/ 85 มิลลิเมตรปรอท
อย่างไรก็ตามพุทธศาสนิกชนที่จะถวายอาหารแด่พระสงฆ์สามเณร ขอให้คำนึงถึงอาหารเพื่อสุขภาพ และลดอาหารหวาน มัน เค็ม ขณะที่พระสงฆ์สามารถประเมินภาวะอ้วนได้ด้วยตนเองโดยใช้เชือกวัดส่วนสูง แล้วนำมาวัดเส้นรอบเอว ซึ่งเส้นรอบเอวไม่ควรจะเกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูงเช่น ส่วนสูง 160 เซนติเมตร รอบเอวไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตรถึงจะไม่อ้วนลงพุง