กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--ซีพี ออลล์
" ปาน- ธนพร แวกประยูร" นักร้องหญิงตัวแม่ที่เป็นไอดอลของ " เมียหลวง "ทั้งประเทศตัดสินใจเลิกอาชีพนักร้องพร้อมประกาศอุทิศ "เสียง" ของเธอเพื่อพระพุทธศาสนาจนวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมบรรยายธรรมในหัวข้อ "ธรรมะทำไม ทำไมธรรมะ" บนเวที "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" หนึ่งในโครงการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ของ บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ณ อาคารซีพีทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม ที่จัดบรรยายเป็นประจำทุกวันศุกร์ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟังมาต่อเนื่องกว่า 22 ปี
ปาน ธนพร ย้อนอดีตให้ฟังว่า เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวสายบุญ มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัด ใช้เงินบริจาคทำบุญเข้าวัดด้วยวิธีที่เธอเรียกว่า " ใช้เงินซื้อบุญ " เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป เพราะเธอยังไม่รู้จักหนทางอื่นที่จะทำบุญเพื่อให้ได้ผลบุญอย่างแท้จริง
แต่วันนี้แทบทุกเรื่องที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต ปาน มองเป็นเรื่องของธรรมะ เช่น การไม่มีคู่ ถือเป็นบุญกุศลทีเดียว เพราะการที่เรารักใคร คนนั้นก็คือ เจ้ากรรมนายเวรเรา พ่อแม่ พี่น้อง ลูก ผัวเมีย ที่มีอิทธิพลต่อใจเรา นั่นคือ เจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตของเรา เมื่อเจอกันแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสร้างกุศลหรือสร้างอกุศลต่อกัน ความรักคืออารมณ์ ใครทำถูกใจเราก็ดี แต่ทำไม่ถูกใจก็จะกลายเป็นเรื่องไม่ดีขึ้นมาทันที จึงตั้งคำถามในใจว่า ความรักมีอยู่จริงไหม เพราะแท้จริงแล้ว มนุษย์อยู่กับความชอบใจ และไม่ชอบใจเท่านั้นเอง หากชอบก็ดี ไม่ชอบก็เลวขึ้นมา คนเลวหากใจมันชอบ ก็กลายเป็นคนดีทันที
ช่วงที่ปานเริ่มสนใจศึกษาธรรมะ เป็นจังหวะเดียวกับที่คุณแม่ปานป่วยหนักจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ มีอาการอัมพาต พูดไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงความทุกข์ที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้ปานหันมาศึกษาเรื่องกฎแห่งไตรลักษณ์ ได้เรียนรู้ว่า ร่างกายแม่ของเธออาจทุกขภาพ แต่ยังมีลมหายใจ ถือว่าไม่ขาดทุน และอาจได้กำไรกว่าเธอเสียด้วยซ้ำเพราะแม่ได้เรียนรู้เรื่องทุกข์เวทนาในตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนที่ไหน
"คนที่พ้นทุกข์ได้ คือ คนที่มีความทุกข์นั่นแหละ อย่าไปกลัวความทุกข์ อย่าไปหนีมัน ให้เผชิญหน้า สู้กับความทุกข์อย่างกล้าหาญ เพราะความทุกข์สอนให้เรารู้จักหนทางแห่งการพ้นทุกข์ได้ คนทุกข์มากๆ ปฎิบัติธรรมได้ดีนักแล เป็นเรื่องจริงที่ปฎิเสธไม่ได้ หากไม่รู้จักทุกข์ จะพ้นทุกข์ไปได้อย่างไร"ข้อคิดที่ปานได้จากอาจารย์และเล่าต่อว่า
ช่วงที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพนักร้อง หัวใจเธอกลับเคว้งคว้าง ไม่เคยเจอความสุขอย่างแท้จริงเลย ครูบาอาจารย์ได้วิเคราะห์จิตของปาน ว่าเป็น " จิตขอทาน " เธอฟังแล้วรู้สึกเจ็บจี๊ด เหมือนโดนกะเทาะเปลือกอัตตาอย่างจัง ใจสะท้าน น้ำตาร่วงเดี๋ยวนั้นเลย ปานรู้สึกว่าเธอเป็นขอทานจริงๆ เธอไม่ได้ขอเงิน แต่ขอความสุขแท้จริง ที่เพียรตามหาและกระหายอยากเจอมาตลอด เธออยากรู้ว่า ความสุขแท้จริงของมนุษย์คืออะไร หลังจากปฎิบัติธุดงค์วัตรอยู่กับป่าคนเดียว เธอน้ำตาไหลนองหน้า เพราะได้คำตอบแล้วว่า ทำไมอาจารย์เรียกจิตของเธอว่าเป็น " จิตขอทาน " เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาเธอไม่เคยเจอความสุขอย่างแท้จริงแม้แต่ครั้งเดียว ทุกครั้งที่เจอกับความทุกข์ เธอจะหนีทุกข์ไปทำกิจกรรมอื่นที่ให้ความสุขเช่น นัดเพื่อนกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อกลบความทุกข์อยู่เรื่อยไป ทำให้ชั่วชีวิตของเธอไม่เคยเจอความสุขที่แท้จริงเลยสักครั้ง
"ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ใจเไม่เคยอิ่มเลย ได้แค่ความสุขเทียมจากภายนอกเท่านั้น หลังจากปฎิบัติธรรม จึงได้พบกับ "ความสงบ" ซึ่งเป็นความสุขอย่างแท้จริงในจิตใจ จึงอยากแบ่งปันเรื่อง "ความสงบ" ที่ก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ให้แก่ทุกคนที่กำลังแสวงหาความสุขแต่ไม่รู้วิธีปฎิบัติตน"
โดยปานมองการปฎิบัติธรรมของคนในยุคนี้ ว่าเป็นเรื่องที่สนุกมาก เพราะมีสิ่งยั่วยุจิตใจเยอะมาก แค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ก็เห็นโลกได้ทั้งใบอยู่ในโซเซียล เห็นความเสื่อมควบคู่กับการพัฒนาทางจิตใจที่เห็นบางคนใช้สื่อโซเซียลระดมเงินทำบุญ ปานเชื่อว่า " ธรรมะ" หยุดปัญหาและเปลี่ยนใจคนได้ เพราะหลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังผ่านการปฎิบัติธรรมหากปฎิบัติธรรมโดยการนั่งสมาธิ เดินจงกลม ทำได้ยาก ขอให้ทำสมาธิแบบ " ลืมตา" ทำอะไรให้รู้ตัว
ธรรมะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกว่า มั่นคงที่สุด เป็นวิชาใจ ที่มนุษย์ควรให้ความสำคัญมากที่สุด ควรศึกษาเป็นวิชาแรกในชีวิต เมื่อเบื่อความทุกข์ จึงตั้งใจศึกษาวิชาใจอย่างจริงจังเพื่อหาคำตอบว่า มนุษย์เกิดมาทำไม เธอคิดว่า "คนกล้าหาญ" เท่านั้นจึงจะเข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคือ กฎแห่งไตรลักษณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่นเดียวกับกายของปานขณะนี้กำลังเข้าสู่ความเสื่อม เธอจึงตัดสินใจใช้เสียงขับขานบทเพลงธรรมะเพื่อสร้างทางสว่างให้แก่พุทธศาสนิกชน
สำหรับผู้ที่สนใจข้อคิดดี ๆ แบบนี้ สามารถเข้ารับฟังธรรมบรรยายกับโครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" ได้ที่อาคารซีพี ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 – 13.30น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 0-2071-1901 หรือ www.cpall.co.th