กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โฟร์ พี แอดส์(96)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดประชุมวิชาการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพไทย หัวข้อการขับเคลื่อนสังคมไทยรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกัน สร้างกระแสให้สังคมตระหนักและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพการรู้เท่าทันหรือมีความแตกฉานด้านสุขภาพสู่ประชาชนอย่างยั่งยืนในยุค Thailand 4.0
นายพานิชย์ เจริญเผ่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสุขภาพ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพไทย หัวข้อการขับเคลื่อนสังคมไทยรอบรู้ด้านสุขภาพ ณ โรงแรมปริ๊นพาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อน ประชาชนกำลังถูกโถมกระหน่ำด้วยข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพทั้งที่ถูกและไม่ถูก และกำลังเผชิญกับระบบสุขภาพที่มีความซับซ้อน การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพในบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ประชาชนอาศัยอยู่หรือประกอบอาชีพต่างๆ ไปยังภาคส่วนต่างๆที่นอกเหนือจากด้านสุขภาพที่มีผลต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพ เช่น ภาคสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมง่ายต่อการเข้าถึง เข้าใจข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่จะไปสนับสนุนให้มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
"การขับเคลื่อนสังคมไทยรอบรู้ด้านสุขภาพต้องอาศัยการสานพลังภาคีจากหลากหลายภาคส่วน อันจะส่งผลต่อการยกระดับความรอบรู้ของประชาชน ตามที่ระบุในแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมาย ให้ประชาชนไทยมีความรอบรู้สุขภาพระดับดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 การที่ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เพียงพอ ประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน(SDGs) ) ในเป้าหมายหลักที่ 3 คือ การมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ และเป้าหมายหลักที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนสังคมที่มีทิศทางชัดเจน มีการบูรณาการทำงานสานพลังประชารัฐที่ควรส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง"คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสุขภาพกล่าว
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพและยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการวางรางฐานที่สำคัญให้กับคนไทยทุกคน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีสมวัยในทุกช่วงชีวิต ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และเป็น 1 ใน 10 ของประเด็นปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขจึงเป็นตัวช่วยให้ประชาชนไทยรู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพของตนเอง ด้วยการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยข้อมูลความรู้สุขภาพ และบริการสุขภาพ จากหลายช่องทางจนสามารถตัดสินใจจัดการสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม (Self-Management) ดังนั้น กรมอนามัยจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายลงนามความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพกับ8 องค์กร ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย กรมพลาธิการทหารบก กรมการขนส่งทหารบก ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน สมาคมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยและสมาคมหมออนามัย
"การจัดประชุมวิชาการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพไทยครั้งนี้ เป็นเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผลงานที่มานำเสนอและจัดแสดงจาก 11 องค์กรที่รับโล่เชิดชูเกียรติ "องค์กรมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการยกระดับองค์กรให้เป็นองค์กรรอบรู้สุขภาพ" และอีก27องค์กรที่รับประกาศเกียรติบัตร"องค์กรริเริ่มขับเคลื่อนสู่องค์กรรอบรู้สุขภาพ"รวมทั้งสิ้น38แห่งประกอบด้วย สถานประกอบการ สถาบันการศึกษา สถานบริการสุขภาพและชุมชน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัยได้เรียนรู้พบปะ ปรึกษาหารือกับแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนด้านวิชาการ วิจัยและนวัตกรรมด้านความรอบรู้สุขภาพ จาก7 แหล่งทุน คือสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนประกันสังคม สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาชนทั้งในระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา และระบบสังคม ชุมชน กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้นประมาณ500 คน" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว