กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--มาเธอร์ ครีเอชั่น
พพ.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียน พบความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสูงจากการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค แนวโน้มพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจะเติบโตตามเปิดโอกาสการลงทุนมากขึ้น ย้ำไทยยังผงาดผู้นำด้านพลังงานทดแทนฯภายใต้ยุทธศาสตร์พลังงาน 20 ปี รอนโยบายพลังงานเคาะปรับแผนAEDP และEEP ใหม่เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนของไทยสูงขึ้น
นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พพ.ได้จัดให้มีการสัมมนานานาชาติเรื่อง "สถานการณ์พลังงานและโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน" (International Conference on Energy situation and Investment Opportunities in Selected ASEAN Region) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านพลังงาน นโยบายพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน การสร้างโอกาสการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานใน กลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก ซึ่งจากการหารือพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตและได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมากขึ้นจึงเป็นโอกาสของการลงทุน
"การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนภาครัฐ จากประเทศไทย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ร่วมอภิปรายกลุ่ม (Panel Discussion) หัวข้อ "มุมมองแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานและโอกาส ในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน" ซึ่งในภาพรวมอาเซียนถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและมีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในเรื่องพลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นโอกาสของการลงทุนจากเอกชนที่หลายประเทศเปิดกว้างมากขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมีความก้าวหน้ามากจึงทำให้อนาคตพลังงานทดแทนจะมีราคาที่ถูกลงเช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์เป็นต้น"นายยงยุทธ์กล่าว
สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นผู้นำทางด้านพลังงานทดแทนเในอาเซียนเพราะได้มีการวางแผนพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579 ) โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการ ตอบโจทย์นโยบพลังงาน 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผน มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่
1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.สร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน
"กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP)ฉบับใหม่ซึ่งทำให้ต้องปรับแผน EEP และ AEDP ใหม่ด้วย ซึ่งเบื้องต้นแผน AEDP ภาพรวมก็จะมุ่งการยกระดับการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากแผนเดิม "นายยงยุทธ์กล่าว