กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
ทีมนิสิตจุฬาฯ "Eat'em all" คว้าแชมป์แฮคกาธอน Startup Battleground ควบแชมป์สตาร์ทอัพสาย "Green Tech" รับรางวัลรวมกว่า 6 แสนบาท พร้อมสิทธิ์ร่วมดูงานใหญ่ในสิงคโปร์ กระทรวงดีอี ย้ำมุ่งมั่นสร้างสตาร์ทอัพอีโคซิสเท็มระดับชาติต่อเนื่อง หวังเกิดยูนิคอร์นในไทย ด้านทีม "Eat'em all" เตรียมต่อยอดแอปพลิเคชั่น หวังช่วยแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการจัดแข่งขันแฮคกาธอนครั้งยิ่งใหญ่ "Startup Battleground" โดยสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (depa) ร่วมกับบริษัท ฮับบา จำกัด (HUBBA Thailand) และเทคสตาร์ส (Techstars) แอคเซอเลอเรเตอร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการแข่งระดมไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ใน 10 หัวข้อ ต่อยอด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ผลปรากฏว่าในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นสุดยอดของทั้ง 10 หัวข้อ รับรางวัลรวมกว่า 6 แสนบาท คือทีมสตาร์ทอัพสาย Green Tech "Eat'em all" ซึ่งเป็นการรวมตัวของทีมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ปัจจุบัน กระทรวงกำลังอยู่ระหว่างวางแผนสร้างสตาร์ทอัพ อีโคซิสเท็ม ระดับชาติ โดยได้มองหาผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนในแขนงต่างๆ ที่อาจจะกลายเป็นแมวมองสนใจลงทุนในผลงานดีๆ ของสตาร์ทอัพหน้าใหม่ หวังว่าการแข่งขันครั้งนี้จะช่วยเป็นก้าวหนึ่งให้สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมแข่งขันได้รับโอกาสและเรียนรู้ สามารถพัฒนาจนกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้ในอนาคต" ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ดีป้ามีมาตรการสนับสนุนที่จะส่งเสริมการพัฒนาไอเดียดี ๆ จากการแข่งขันครั้งนี้ให้เกิดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ และพร้อมจะผลักดันด้วยโปรแกรมต่างๆ ของดีป้าอย่างดีป้า ฟันด์และเครือข่ายในสตาร์ทอัพ อีโคซิสเท็ม เพื่อพัฒนาธุรกิจ และเชื่อมโยงกับนักลงทุน ให้สตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนโดยดีป้าสามารถเติบโต ขยายตลาดไปต่างประเทศได้ เพราะจากผลงานที่เห็นอยู่นี้ เชื่อมั่นว่า สตาร์ทอัพไทยมีไอเดียและฝีมือไม่แพ้ชาติอื่นเลย
สำหรับการแข่งขัน Startup Battleground เป็นการแข่งขันแฮคกาธอนที่เปิดรับผู้สมัครเป็นสตาร์ทอัพระดับตั้งไข่ (Seed Stage) มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้นกว่า 500 คน ใน 10 หัวข้อที่จะมาต่อยอดกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการจัดอบรมผู้เข้าแข่งขันอย่างเข้มข้น โดยวิทยากรที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันสุดท้ายของงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 ผู้ชนะสูงสุดในการแข่งขัน (Winner) จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5 แสนบาท พร้อมตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และสิทธิ์เข้าร่วมงาน Rakuten Accelerator ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ชนะในแต่ละหัวข้อ (Track Master) จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รวมมูลค่าเงินรางวัลกว่า 1.5 ล้านบาท
ด้านนายพศิน โอภาสพิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง Eat'em all และนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมเป็นสตาร์ทอัพระดับตั้งไข่ (Seed Stage) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนิสิต 2 คณะ ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนานวัตกรรมขึ้นภายใต้ชื่อ Eat'em all เป็นแพลทฟอร์มสำหรับซื้อขายอาหารส่วนเกินในราคาส่วนลด มุ่งเน้นจะช่วยเพิ่มกำไรให้กับร้านค้าพร้อมทั้งลดปัญหาอาหารเหลือทิ้งในร้านอาหาร
"ทีมรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะจุดมุ่งหมายที่สมัครเข้ามาตอนแรก คือต้องการเข้าร่วมเพื่อเป็นประสบการณ์เท่านั้น จึงอยากฝากให้สตาร์ทอัพที่ยังไม่เคยเข้าร่วมแข่งขัน ลองหาโอกาสและประสบการณ์ดีๆ เช่น Startup Battleground ดู และไม่ต้องกลัวความล้มเหลว เพราะตัวทีมเองก็ไม่ได้เพิ่งทำ Eat'em all เป็นโปรเจ็คท์แรก" นายพศิน กล่าว
ปัจจุบัน แพลทฟอร์ม Eat'em all ให้บริการอยู่บนช่องทาง LINE BOT มาแล้วประมาณ 1 เดือน มีผู้ใช้บริการเป็นประจำในแต่ละสัปดาห์ (Weekly Active Users) อยู่ที่ประมาณ 900 คน เชื่อมต่อกับร้านค้าอีก 15 ร้านค้า หลังจากได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 6 แสนบาทในครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดพัฒนา Eat'em all ให้เป็นแอปพลิเคชั่น พร้อมทั้งพัฒนาหรือเชื่อมโยงให้มีระบบขนส่งสินค้า (Delivery) ขยายประเภทร้านอาหาร จากเดิมที่เป็นร้านอาหารประเภทเบเกอรี่เป็นหลัก สู่ร้านอาหารประเภทอื่นๆ รวมถึงขยายฐานผู้ใช้ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสตาร์ทอัพที่คว้ารางวัลในแต่ละหัวข้อการแข่งขัน และรับเงินรางวัล 1 แสนบาท ได้แก่
1.Homeprise (Living Tech)
2.Tomoko (Food Tech)
3.Agency (HR Tech)
4.Codekit (Ed Tech)
5.Sharmble (HealthTech)
6.Imagine Innovation (e-Commerce)
7.Eat'em all (Green Tech)
8.LILUNA (Software as a Service /SaaS)
9.AGROOO! (Agri Tech)
10.Halahub (Travel Tech)