กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พีบีไอซี) จัดกิจกรรมเลคเชอร์ซีรีส์ ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ "การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น" เพื่อถอดบทเรียนจากการร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวทางการรับมือปัญหาด้านเกษตรกรรม ความมั่นคงทางด้านอาหาร การจัดการน้ำ ด้วยวิธีการดั้งเดิมแบบภูมิปัญญาคนพื้นเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (HAII) พร้อมทั้งนักวิชาการด้านความมั่นคงทางอาหาร การจัดการทรัพยากรด้านเกษตรกรรม น้ำ และสิ่งแวดล้อม ทั้งจากไทยและอินเดีย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ในปี 2562
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปัจจุบันการพัฒนาต่างๆ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" (SDGs 17) ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ สำหรับสังคมไทยที่มีคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรม และมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากร และสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบภาวะความไม่มั่นคงของภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากรการผลิต ทั้งเรื่องที่ดิน แรงงาน รวมถึงปัญหาด้านความแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการทำเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ไปยังการผลิตอาหาร ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้นการแก้ปัญหาภาคการเกษตร "อย่างยั่งยืน" จึงต้องมีการศึกษาที่มาของปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อการรับมือกับปัญหาและวิธีการจัดการอย่างยั่งยืน
สำหรับสังคมอินเดียที่เป็นประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง อีกทั้งอินเดียมีความได้เปรียบด้านความหลากหลายของสภาพอากาศและสภาพภูมิศาสตร์ จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงตามไปด้วยทั้งในด้านการเพาะปลูกพืชต่างๆ การปศุสัตว์ และการประมง ประกอบกับความสามารถด้านเทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูปอาหารที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศได้อย่างพอเพียง และเป็นสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว คนอินเดียยังมีภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก การจัดการน้ำ ที่ดิน และมีการพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้อย่างต่อเนื่องผ่านงานวิจัย การตั้งองค์กรเฉพาะทางที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และควรค่าอย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นกรณีศึกษา สำหรับประเทศสังคมเกษตรกรรมเช่นเดียวกันอย่างไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ กล่าวเสริมว่า หนึ่งในประเทศที่มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสังคมเกษตรอย่างยั่งยืน และเป็นประเทศที่นำมาเป็นกรณีศึกษา และถอดบทเรียน ก็คือ ประเทศอินเดีย และด้วยพีบีไอซี ได้จัดการเรียนการสอนทั้ง 3 หลักสูตร ได้แก่ ไทยศึกษา จีนศึกษา และอินเดียศึกษา ที่มุ่งเน้นการศึกษาในบริเวณเฉพาะทั้งไทย จีน และอินเดีย ด้วยองค์ความรู้แบบบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้เท่าทันกับบริบทสังคมในปัจจุบัน อีกทั้งในหลักสูตรอินเดียศึกษา มีความพยายามพัฒนาความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไทยและอินเดียอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านการศึกษาผ่านการให้ทุนการศึกษาโดยนักธุรกิจอินเดีย เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมอินเดียอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนผ่านการส่งบุคลากรชาวอินเดียมาเป็นผู้สอนภาษาและวัฒนธรรมของอินเดียโดยตรง เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ด้านอินเดียศึกษาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ พีบีไอซี ยังได้จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น" โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหาร ระดับระหว่างประเทศ โดยใช้แนวทางภูมิปัญญาชาวบ้านในประเทศอินเดีย อีกทั้งที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (HAII) ร่วมแนะแนวทางการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ผ่านการพัฒนาสู่การเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้ผลในการพัฒนาด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดีย จากหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พีบีไอซี) ได้จัดกิจกรรมเลคเชอร์ซีรีส์ ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ "การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี นักวิชาการ นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3701 หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/pbic.tu