กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์น้ำอีสานเหนือ ชี้ปริมาณน้ำภาพรวมไม่น่าห่วงหลังแนวโน้มฝนลดลง ย้ำไม่นอนใจ มอบทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมแผนรับสถานการณ์ใกล้ชิด
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยหลังรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ว่า จากการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์แนวโน้มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สถานการณ์ฝนวันนี้ต่อเนื่องถึง 26 ก.ย. 61 ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณฝนลดลง โดยต้องเฝ้าระวังแม่น้ำยม แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำโขง เนื่องจากเขื่อนจึ่งหง ประเทศจีนเพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำโขง ในส่วนปริมาณฝนมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ถึงแนวโน้มฝนจนถึงสิ้นเดือนกันยายน คาดว่า ฝนที่จะมาเติมน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลดลง ประกอบกับอิทธิพลของร่องมรสุมช่วงนี้กำลังอ่อน แต่ฝนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งปลายเดือน ช่วงวันที่ 26–28 กันยายน เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงเริ่มแผ่ลงมา ขณะที่สถานการณ์พายุยังมีเกิดขึ้นทางแปซิฟิก แต่ไม่เคลื่อนตัวมาทางประเทศไทย ในเบื้องต้นมีพายุ 2 ลูก คือ ลูกที่ 1 เกิดขึ้นฝั่งอันดามัน ใกล้ชายฝั่งอินเดีย แรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน เมื่อคืนวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา คาดว่าจะเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศอินเดียและจะอ่อนกำลังลง ส่วนลูกที่ 2 บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ยังเป็นพายุดีเปรสชั่นกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ ซึ่งทั้งสองลูกไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย
นายสำเริง กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนครั้งนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการ ของ สทนช. ที่จะติดตาม กำกับ ดูแลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน เป็นหน่วยปฏิบัติการที่รับมือกับวิกฤตน้ำท่วมหนักในรอบ 20 ปี ของเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร และนครพนม จากอิทธิพลของพายุเซินกา ในช่วงเดือนกรกฎาคม ของปี 2560 วันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำผลจากการสรุปบทเรียนการปฏิบัติการเกิดอุทกภัยในปี 2560 มาปฏิบัติร่วมกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในปี 2561
"สาเหตุหลักของน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำก่ำ ในปี 2561 เกิดจากอิทธิพลของพายุฝน พายุโซนร้อนเซินติญ ร่วมกับหย่อมความกดอากาศต่ำในช่วงเดือนกรกฎาคม ทำให้ดินอิ่มตัวและปริมาณน้ำในลำน้ำต่าง ๆ มีปริมาณมาก ประกอบกับลำน้ำก่ำ ซึ่งมีความยาวถึง 123 กิโลเมตร มีความคดเคี้ยวระบายน้ำได้ช้า อีกทั้งการระบายน้ำจากพื้นที่ทั้งสองฝั่งลงสู่ลำน้ำก่ำก็เป็นไปได้ช้า เนื่องจากมีอุปสรรคขวางทางน้ำ และไม่มีคลองชักน้ำเพื่อเร่งระบายจากพื้นที่ รวมทั้งระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วและต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคสำคัญในการระบายน้ำจากลำน้ำก่ำลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากปฏิบัติการอุทกภัยในปี 2560 ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมของปี 2561 ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี " นายสำเริงกล่าว
นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ปัจจุบันแนวโน้มฝนลดลงและยังไม่พบสัญญาณพายุที่จะส่งผลกระทบใด ๆ ต่อประเทศไทย แต่ก็ยังมีข้อมูลว่าพบพายุก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว 28 ลูก คาดว่าจะมีโอกาสเกิดพายุได้ในเดือนตุลาคม 1–2 ลูก สทนช. จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงเวลาดังกล่าว นายสำเริง กล่าวย้ำว่า สทนช. ได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังและพร่องน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย วางแผนและปฏิบัติงานระหว่างเกิดภัยได้อย่างฉับไว รวมทั้งเตรียมการณ์ในการปฏิบัติงานหลังเกิดภัยทั้งการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้โดยเร็วและครอบคลุมในทุกพื้นที่ประสบภัย