กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--มหาวิทยาลัยทักษิณ
คณะวิทยาศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมออกแบบหลักสูตรโครงการพัฒนาครูสร้างสรรค์ สาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐาน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านเรื่องเล่าจากภาพ Street Art ในเขตเมืองเก่าสงขลาก้าวออกมาจากห้องเรียน..สู่..หลักสูตรการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากภาพ Street Art
เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทย คือการสร้างทักษะให้เยาวชนไทยมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม คิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเป็น มีทักษะสารสนเทศ รู้เท่าทันสื่อ ฉลาดสื่อสาร มีทักษะชีวิตและอาชีพ มีความยืดหยุ่น รู้จักปรับตัว เรียนรู้วัฒนธรรม ซึ่งทักษะการเรียนรู้ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เน้นการสอนเชื่อมห้องเรียนเข้ากับสังคมและชุมชน และสามารถให้นักเรียนร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมสร้างความรู้มากขึ้น
การตระหนักถึงการจัดการเรียนรู้ที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ก็มีความจำเป็นที่ต้องบูรณาการเข้ากับความรู้ในศาสตร์อื่นๆด้วย การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียนมัธยมที่สามารถก้าวข้ามสาขาวิชา และห้องเรียนสี่เหลี่ยม ไปสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้จริง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายคุณครูวิทยาศาสตร์ว่าจะสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ได้อย่างไร
จากประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตที่จะออกไปเป็นครูวิทยาศาสตร์ และได้สัมผัสกับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนต่างๆ มาอย่างยาวนานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นินนาท์ จันทร์สูรย์อาจารย์ประจำ หลักสูตร ปริญญาโท วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินตนา กสินันท์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มองเห็นถึงปัญหาของการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ว่ายังขาดการเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นักเรียนส่วนใหญ่ขาดความสนใจการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้จากแบบเรียน และห้องทดลองภายในโรงเรียน จึงร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชื่อว่า "การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จาก Street Art สงขลา" เพื่อใช้อบรมสำหรับครูวิทยาศาสตร์ที่สนใจการสอนวิทยาศาสตร์นอกกรอบ ผ่านโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า หลักสูตรคูปองครู โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อให้ครูมีเข้าใจในเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างลุ่มลึก และครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จาก Street Art สงขลา โดยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยการเรียนรู้ที่ว่านี้สามารถสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพระหว่างครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยในการร่วมกันด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นินนาท์ จันทร์สูรย์ เปิดเผยว่า โครงการนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการบริการวิชาการผ่าน "โครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร" โดยมีการวางแผนร่วมมือกันกับทีมทำงานทำให้หลักสูตรมีเนื้อหาน่าสนใจมีความเฉพาะตัว โดยการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับความรู้ทางศิลปะ ความรู้ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มาเป็นฐานในการออกแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นินนาท์ จันทร์สูรย์ กล่าวว่าโครงการนี้จัดขึ้นเพียง 5 รุ่น รับสมัครรุ่นละ 30 เท่านั้น เพราะโครงการให้ความสำคัญกับการสร้างการอบรมเชิงคุณภาพ และทันที่ประชาสัมพันธ์โครงการ ก็พบว่าทั้ง 5 รุ่น มีผู้สมัครเต็มทุกรุ่นทั้งนี้ "การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จาก Street Art สงขลา"จึงเป็นโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรที่ต้องการยกระดับการจัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ให้ครูประจำการ ได้พัฒนาทักษะการออกแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่นักเรียนสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเน้นเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
ผลจากการจัดโครงการพบว่า คุณครูที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมมีโอกาสบูรณาการความรู้จากแบบเรียนวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ ภาพ สตรีทอาร์ต ที่ถนนนางงาม ถนนนครใน และถนนนครนอก ซึ่งมีภาพสะท้อนวิธีชีวิตคนสงขลาในอดีตจำนวน 15 ภาพ โดยคุณครูได้ออกแบบการเรียนรู้หลังจากได้เดินออกไปศึกษาภาพสตรีทอาร์ตที่ตนเองสนใจ มาเชื่อมโยงกับการออกแบบจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยในการหาคำตอบและถ่ายทอดความรู้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 และมีความสนุกในเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศที่ต้องการสร้างการพัฒนาประเทศด้วยการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้น
ภาพสตรีทอาร์ตเมืองสงขลา ที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างหลักสูตร
ปีพ.ศ. 2558 ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลาได้รับการกล่าวถึงในสื่อสารมวลชนทุกแขนง เมื่อมีศิลปินภาพสตรีทอาร์ตได้ร่วมกับเทศบาลนครสงขลาและการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา ได้วาดรูปด้วยสีน้ำ เพื่อจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อ "ฟุเจา"ซึ่งตั้งอยู่ที่ผนังอาคารเก่าคลาสสิกสไตล์ชิโนโปรตุกีสซึ่งสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2462 ในองค์ประกอบของภาพมีชาย 3 คน ซึ่งเป็นผู้สูงวัยกำลังนั่งกินน้ำชา และพูดคุยกันอย่างมีความสุข และนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ รวมทั้งมีนาฬิกาไม้แบบเก่า และของประกอบที่วางขายในร้านก็เป็นสินค้าดั้งเดิมในอดีต เพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเมืองสงขลา
ภาพจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อ "ฟุเจา"
กล่าวกันว่าภาพจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อ "ฟุเจา"ได้ปลุกให้เมืองสงขลาตื่นตัวเรื่องการท่องเที่ยวและการหวนกลับมาสนใจรากเหง้าของตนเองอีกครั้ง และนำมาสู่การขยายตัวของภาพสตรีทอาร์ตเกิดขึ้นกว่า 20ภาพ พร้อมๆ กับการเข้ามาของนักเที่ยวในเขตพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงที่อยู่อาศัย และร้านค้าของเจ้าของเดิมในพื้นที่ ขณะที่หลายอาคารก็ถูกทิ้งให้ร้าง นอกจากมูลค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจแล้ว ภาพสตรีทอาร์ต ยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของระบบการศึกษาที่สำคัญ ของเมืองสงขลาด้วยนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา บรรยากาศของย่านเมืองเก่าสงขลาจึงเริ่มมีการขยายตัวในด้านการท่องเที่ยว การจัดเทศกาลอาหาร การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเมืองเก่าสงขลาในประเด็นต่างๆ ทุกสุดสัปดาห์ โดยภาพสตรีทอาร์ตก็ยังเป็นจุดศูนย์กลางของการดึงดูดผู้คนเข้ามาในพื้นที่ย่านเมืองเก่า ขณะที่ภาพสตรีทอาร์ตยังเป็นภาพวาดที่ร้อยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของผู้คนในสงขลา และภาคใต้ ให้กลับมามีชีวิตอยู่ในฝาผนังริมถนนเมืองเก่าสงขลา ภาพสตรีทอาร์ตเป็นศิลปะที่รื้อสร้างความทรงจำของผู้คนในย่านเมืองเก่า และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีสายใยทางวัฒนธรรมร่วมรากเดียวกัน โดยจุดเด่นของภาพสตรีทอาร์ตนอกจากการเชื่อมวิถีชีวิตกับอดีตแล้วเก่าและแบบใหม่เข้าด้วยกันผ่านเรื่องเล่าแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงภาพเข้ากับผู้คนที่มาชมภาพได้ด้วย คนที่ชมสามารถมีส่วนร่วมกับภาพและสร้างความหมาย ความรู้สึกใหม่ร่วมกันด้วย ภาพสตรีทอาร์ตจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เน้นการสอนที่เชื่อมห้องเรียนวิทยาศาตร์เข้ากับสังคมและชุมชน และสามารถให้นักเรียนร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมสร้างความรู้มากขึ้น