กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่าอียูได้ให้ความสำคัญและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบวัสดุสัมผัสอาหารและภาชนะบรรจุอาหารที่มีการหลุดลอกและส่งผ่านสารปนเปื้อนลงสู่อาหารที่บรรจุ ส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคและคุณภาพอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต รสชาดและสีอาหารเปลี่ยน เป็นต้น สารกลุ่มที่อียูให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ กลุ่มพทาเลท (phthalate) ซึ่งเป็นสารที่ก่ออันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ทำลายไต กระเพาะปัสสาวะ และสาร ESBO (epoxidised soy bean oil) ซึ่งมีผลต่อตับและไต โดยประเด็นปัญหาการหลุดลอกของสารทั้งสองกลุ่มดังกล่าวจากประเก็นที่ทำจากพลาสติกประเภท PVC ของฝาขวดแก้วที่ทำด้วยโลหะลงสู่อาหารเป็นประเด็นใหม่ที่อียูเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
ขณะนี้อียูเร่งทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบด้านวัสดุสัมผัสอาหารที่เกี่ยวข้องกับภาชนะพลาสติก เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยทบทวนการใช้สารกลุ่ม phthalate 5 ชนิด ได้แก่ DINP, EDHP, DBP, DIDP และ BBP นอกจากนี้ อียูจะบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยวัสดุสัมผัสอาหารประเภทพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป กำหนดให้สาร ESBO เป็น 1 ใน 7 สารที่อนุญาตให้ใช้เป็นสารเจือปนหรือพลาสติกไซเซอร์เติมลงในการผลิตวัสดุพลาสติกได้ และกำหนดค่า MRLs ของสาร ESBO ที่อนุญาตให้หลุดลอกออกมาและตกค้างในอาหารได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดดังนี้
สาร ค่าMRLs
กลุ่มphthalate ไม่เกิน0.05มิลลิกรัม/กิโลกรัม
กลุ่มESBO- ในอาหารทั่วไป ไม่เกิน60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
- ในอาหารสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับสินค้าอาหารของไทยที่มีการส่งออกไปยังอียูตั้งแต่ต้นปี 2550 พบว่าอียูแจ้งเตือนผ่านระบบเตือนภัยเร่งด่วนด้านสินค้าอาหาร (Rapid Alert System for Food and Feed : RASFF) ว่ามีการปนเปื้อนของสาร phthalate ประเภท DINP, DIDP และ DEHP ที่หลุดลอกออกมาจากฝาขวดแก้วที่ทำด้วยโลหะและมีประเก็นประกอบฝาเป็นพลาสติกในสินค้าเครื่องปรุงรสที่มีไขมันและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น พริกแกงสำเร็จรูป ซอสเต้าเจี้ยวที่บรรจุในภาชนะขวดแก้วมีฝาปิด ซึ่งในส่วนนี้สถาบันอาหารก็ได้ออกรายงานแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการอาหารและบรรจุภัณฑ์เพิ่มความระมัดระวังและเข้มงวดในการผลิตด้วย
อนึ่ง ไทยส่งออกสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหารไปยังอียูเฉลี่ยปีละกว่า 1,500 ล้านบาท (2547-2549) และในปี 2550 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกมูลค่า 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา