กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราขสีมา
สาขาวิชานวัตกรรมเซรามิกส์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดโครงการประกวดศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาโคราช ครั้งที่ 1 "Korat Craft Pottery #1" เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ณ Art Gallery and Exhibition ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดี เป็นประธานเปิดโครงการ จากนั้นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ประกวดศิลปหัตถกรรมออกแบบลวดลายเครื่องปั่นดินเผาจากรูปทรงตุ๊กตาตกแต่งสวน โดยออกแบบตามจินตนาการของตนเองและถ่ายทอดแนวคิดทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย
ผลการประกวดปรากฏว่า โรงเรียนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงเรียนบุญวัฒนา และ โรงเรียนเสิงสาง ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนพิมายวิทยา และ โรงเรียนบ้านหนองตะครอง ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 3,000 บาท
พร้อมเกียรติบัตร โดยได้รับเกียรติจาก นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้มอบรางวัล และกล่าวแสดงความยินดีแก่นักเรียน
การประกวดศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาโคราช ครั้งที่ 1 เกิดจากความร่วมมือในการดำเนินงานทางศิลปวัฒนธรรม การเสริมสร้างคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ระหว่าง สาขาวิชานวัตกรรมเซรามิกส์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และเทศบาลตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรม เชิญชวนให้โรงเรียนในเขตจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง จากการที่คณะครูในโรงเรียนต่าง ๆ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน หลักสูตรศิลปะเครื่องปั้นดินเผาสำหรับครู ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการอบรมได้นำความรู้ไปถ่ายทอดสู่นักเรียนในโรงเรียน จึงจัดการประกวดในครั้งนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพผลงานสร้างสรรค์ของนักเรียน ให้มีความสามารถในการแข่งขันเครื่องปั้นดินเผาระดับชาติ อีกทั้งเพื่อพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพให้แก่นักเรียน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมศึกษาด้านศิลปะเครื่องปั้นดินเผาให้เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าประกวดถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จัดโครงการและจะนำผลงานไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาต่อไป