กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
หนึ่งในปัญหาสำคัญของสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษามลายูเป็นหลักในการสื่อสารก็คือปัญหาการ "อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้" ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของครูผู้สอน เพราะปัญหานี้ไม่เพียงแต่กระทบกับการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปถึงการเรียนรู้ในสาระวิชาอื่นๆ เพราะภาษาไทยเปรียบเสมือนเครื่องมือการสื่อสารที่จะช่วยให้เด็กๆ เกิดความเข้าใจ และเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และดำรงชีวิตในอนาคต
โรงเรียนบ้านบาลูกายาอิง ตำบลร่มไทร อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทย อันเนื่องมาจากพื้นที่ชุมชนโดยรอบเป็นสังคมชนบทที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนไทย-มาเลเซีย ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีฐานะยากจนอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ๆ และใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร โดยพบว่าในปีการศึกษา 2558 มีนักเรียนชั้น ป.1-ป.3 พูดไทยไม่ได้ อ่านไม่ออก และเขียนไม่ได้ถึงร้อยละ 60 หากยังปล่อยทิ้งไว้ก็จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียน เพราะภาษาไทยเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เด็กๆ เกิดความเข้าใจและสามารถเรียนรู้ในสาระวิชาหรือเรื่องราวต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น
"ปานทิพย์ จุลบุตร" ครูประจำชั้น ป.1 จึงไม่อาจจะนิ่งเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ทบทวนวิธีการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 เสียใหม่ โดยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ทั้งเรื่องของการพูด-อ่าน-เขียน โดยใช้สื่อและนวัตกรรมการสอนที่หลากหลายเข้ามากระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ มาอย่างต่อเนื่อง และยังได้จัดทำโครงการ "การเรียนรู้ภาษาไทยด้วยสื่อสร้างสรรค์" ภายใต้โครงการ "ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยและแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะการพูด-อ่าน-เขียนภาษาไทย เพื่อสร้างความสุขในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น
"ปัญหาของเด็กที่นี่ก็คือเรื่องภาษา เพราะเด็กๆ ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร ในครอบครัวไม่เคยใช้ภาษาไทยหลายคนจึงพูดภาษาไทยไม่ได้ เด็กของเราก็จะด้อยทั้งในเรื่องของการพูด อ่านและเขียน ก็เลยเป็นปัญหาในการสอนภาษาไทย โดยเฉพาะการพูดถ้าเราใช้ภาษาไทยคุยกันไม่ได้ก็จะไม่รู้เรื่องกันทั้งครูและเด็ก ทีนี้ในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรมันก็สามารถสอนได้ แต่เด็กส่วนใหญ่แทบจะไม่สนใจเพราะในตำรามันก็มีแต่ตัวหนังสือ ก็เลยต้องมาหาวิธีการสอน หาสื่อ หาเครื่องมือที่แตกต่างจากในตำรา ที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ อยากเรียนรู้มากขึ้น เพราะภาษาไทยสำคัญมากในการที่เราจะใช้สื่อสารทั้งการพูด การอ่าน การเขียน แล้วก็การฟัง เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ทุกๆ เรื่องที่เพื่อให้เขาสามารถที่จะเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปได้" ครูปานทิพย์เล่าถึงสภาพปัญหาและความจำเป็นของการสร้างสื่อเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้วิชาภาษาไทย
"ทำนุ อาแวกะจิ" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาลูกายาอิงกล่าวเสริมว่า เด็กนักเรียนจากชุมชนต่างๆ รอบๆ โรงเรียนล้วนพูดภาษายาวีกันแทบจะทั้งหมด ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ที่บ้านจนมาถึงที่โรงเรียนแทบจะไม่มีภาษาไทยเข้ามาเกี่ยวข้องเลย จึงเป็นปัญหาในการเรียนรู้ภาษาไทยของเด็กๆ มาโดยตลอด แต่พอได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ตัวเด็กๆ เองเขาก็ชอบวิธีการเรียนรู้แบบนี้ ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนก็ดีขึ้นจากลำดับเกือบท้ายสุดของกลุ่มก็ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับต้นๆ
"เห็นชัดว่าพอเด็กสนุกแล้ว เขาก็จะเรียนเก่งขึ้น ซึ่งถ้าหากเราสามารถทำโครงการนี้ทั้งกลุ่ม หมายถึงขยายผลไปทุกระดับชั้น เชื่อว่าจะสามารถที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนสูงขึ้น เพราะว่าพื้นฐานของการเรียนรู้ก็คืออยู่ที่ความเข้าใจ เมื่อเด็กมีความเข้าใจในวิชาภาษาไทย วิชาอื่นๆ เขาก็จะเข้าใจได้ดีขึ้น" ผอ.รร.ระบุ
เห็นได้ชัดจากชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทยที่ในวันนี้มีการเรียนการสอนเรื่อง มาตราตัวสะกดแม่ ก กา โดย "ครูปานทิพย์" ได้นำเครื่องมือ "ปลาทูน่าอ่าน" มาใช้เป็นสื่อในการสอน โดยเริ่มจากรับใบงานเป็นแผ่นกระดาษมีรูปปลาจำนวน 2 แผ่น แล้วให้เด็กๆ ไปค้นหาคำที่ตัวเองอ่านออกและอยู่ในมาตราตัวสะกดจากสื่อต่างๆ ที่วางกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งห้องมาเขียนเติมลงไปในช่องว่าง เมื่อครบแล้วเด็กๆ ก็จะนำมาตัด ระบายสีสันตามชอบ แล้วนำกระดาษทั้งสองแผ่นมาทากาวประกบกันและเสียบไม้ แล้วนำออกไปอ่านให้กับเพื่อนๆ ฟังหน้าชั้นเรียน รวมถึงนำกลับไปอ่านทบทวนที่บ้านด้วย
"ครูจะบอกว่าให้นักเรียนเขียนคำที่นักเรียนอ่านได้ เขาก็จะไปหามาคำที่เขาอ่านได้ เพราะว่าเวลาครูให้เขียนเสร็จ นักเรียนจะต้องมาอ่านให้ครูฟังก่อน เพราะฉะนั้นเขาก็จะไปหาคำที่เขาอ่านได้ก่อน แล้วก็ค่อยเพิ่มความยากขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านการอ่าน เพราะว่าอ่านจากคำง่ายๆ ก่อน แล้วก็ไปหาคำยาก เขาก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการอ่านได้ แล้วก็เข้าใจคำที่เขาเขียน เพราะว่าครูบอกว่าให้เราอ่านคำที่อ่านได้ แล้วก็เข้าใจความหมาย ทำให้เขาได้รับทักษะทั้งการอ่าน การเขียน และการพูด แล้วก็สนุกในการสร้างสื่อในการเรียนรู้ขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง" ครูปานทิพย์เล่าถึงเครื่องมือปลาทูน่าอ่าน
บรรยากาศในชั้นเรียนสิ่งที่สังเกตเห็นได้คือเด็กๆ ทุกคนมีความกระตือรือร้นในการค้นหาคำตามโจทย์ที่ได้รับ มีความสุขและสนุกสนานไปกับการค้นหาคำศัพท์จากสื่อรูปแบบต่างๆ ที่วางเรียงรายอยู่ทั่วห้องเรียน โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาค้นหาได้ตามอิสระ จะนั่ง จะนอน จะขีด จะเขียนอย่างไรก็ตามที่แต่ละคนถนัด บรรยากาศในการสอนภาษาไทยในชั้นเรียนของครูปานทิพย์จึงดูแตกต่างไปจากที่เคยเห็น
"เครื่องมือต่างๆ ที่เราคิดขึ้นมา ทำให้เด็กๆ จะอยากเรียนภาษาไทย เพราะว่าเราไม่ได้ให้เปิดหนังสือแล้วอ่านตามครู เราไม่ใช่สอนแบบนั้นเพราะว่าอยากให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักค้นคว้า เพื่อที่จะเขาคิดวิเคราะห์เป็น แล้วเราก็จะฝึกให้เขามาเขียนในสมุดหรือในแบบฝึก แล้วก็รวบรวมเป็นเล่ม เพื่อที่จะให้เขาได้ดูว่าพัฒนาการของเขาในเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นยังไงบ้าง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ภาษาไทยได้ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบจากวิธีการสอนแบบเดิม และสิ่งที่สำคัญก็คือทำให้เขามีความสุขในการเรียน อยากที่จะมาโรงเรียนอยากที่จะทำกิจกรรมกับครู โดยในห้องภาษาไทยเขาสามารถใช้พื้นที่ได้ทั้งหมดเลย เพราะว่าสื่อของเรามีอยู่ทั่วห้อง ทั้งติดผนัง ทั้งแขวน เขาจะนอนเล่น นั่งเล่น ก็ได้หมดห้องนี้ เพราะว่าเราจะให้อิสระเขาในการที่จะเรียนรู้ โดยไม่ได้บอกว่าให้นั่งทำที่โต๊ะอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้คือความสุขของเด็กๆ ในการเรียน" ครูปานทิพย์กล่าวสรุป
สื่อการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นหนังสือป๊อบอัพ ต้นไม้ตัวหนังสือ หรือบัตรคำศัพท์ต่างๆ ที่ตั้งวางและแขวนอยู่เรียงรายในห้องเรียน ถึงแม้จะมีรูปร่างหน้าตาที่แลดูธรรมดาๆ เพราะทำขึ้นมาจากหนึ่งสมองสองมือของครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านบาลูกายาอิง แต่ก็สามารถใช้งานได้จริงและสามารถสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ภาษาไทยอย่างมีความสุขให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้และเปิดประตูสู่โลกว้างทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต.