กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
ภาษานับว่าเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่สำคัญ โดยเฉพาะภาษาประจำชาติหรือภาษาไทย หากเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถอ่านออกหรือเขียนได้ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ทุกด้าน แต่ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมไทย แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหามาตลอด
โรงเรียนวัดวิหารเบิก (กาญจนานุกูล) ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง แม้จะตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง แต่ต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งคุณภาพชีวิตของนักเรียนที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวหย่าร้าง นักเรียนถูกทอดทิ้งให้อยู่กับญาติ บางรายอยู่เพียงลำพัง และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้าง มีรายได้ไม่แน่นอน จากการประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยยังพบว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้แทบทุกระดับชั้น คณะครูจึงร่วมกันโดยมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน โดยดำเนิน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส "การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนเพื่อการเรียนรู้" ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในฐานะผู้บริหาร ประสิทธิ์ รอดดำ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวิหารเบิก เห็นว่าหากจะแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนให้สำเร็จได้นั้นจะต้องแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของนักเรียนก่อน เพราะแม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้อำเภอเมืองพัทลุง แต่นักเรียนกว่า 80-90 % ขาดพ่อแม่ดูแลส่วนใหญ่อยู่กับญาติ มาจากครอบครัวหย่าร้าง ฐานะยากจน โรงเรียนจึงต้องให้ความช่วยเหลือ จัดครูแต่ละชั้นเข้าไปดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าบางคนเป็นเด็กพิเศษ มีความพิการซ้ำซ้อนต้องดูแลเป็นพิเศษจากครูที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ
"เราให้การดูแลเด็กทุกคน ทุกปีเรามีการตรวจสอบนักเรียนว่าใครมีความลำบากที่สุด เราจะให้ความช่วยเหลือว่าครอบครัวมีปัญหาอะไรบ้าง เช่น น้ำท่วมโรงเรียนอยู่นานหลายเดือนก็เอาของไปแจก นักเรียนไม่ได้มาโรงเรียน บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ ส่งผลต่อการเรียนการสอน เราจะส่งครูไปแนะนำให้มาเรียนในวันเสาร์ อาทิตย์ เพิ่มเติม" ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าว
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวิหารเบิก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนที่จะย้ายมารับตำแหน่งที่นี่ เด็กส่วนมากอ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นเพราะว่าช่วงนั้นครูไม่ได้ติดตามเท่าที่ควร แต่หลังจากนั้นก็ได้กำชับให้ครูทุกคนให้ติดตามเด็ก บางคนที่มีปัญหาทางบ้าน มีปัญหาสุขภาพ ต้องเข้าไปดูแลให้ทั่วถึง ต้องไปดูถึงบ้านว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ส่วนใหญ่พบว่ามีปัญหาทางครอบครัวทำให้เด็กไม่สนใจการเรียน ด้านผู้ปกครองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ค่อยสนับสนุนเท่าที่ควรเพราะเห็นว่าปัญหาปากท้องสำคัญกว่าเรื่องเรียน
"เรารู้ว่าตอนเช้าส่วนใหญ่เด็กไม่ได้กินข้าวมาซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก ทางโรงเรียนก็ต้องสั่งแม่ครัวที่มาแต่เช้าให้หุงข้าวไว้ ทำกับข้าวง่ายๆให้นักเรียนได้กินก่อนจะเรียนหนังสือ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้าหมดไป และตอนกลางวันเรามีอาหารให้เต็มที่ทุกระดับชั้น" ผอ.ประสิทธิ์ระบุ
เมื่อแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนได้แล้ว ทางโรงเรียนจึงได้มุ่งแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ในลำดับต่อมา โดยมีครูสมจิตร ปรางสุวรรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ (ภาษาไทย) ซึ่งได้สร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับใช้กับนักเรียนกลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้และนำไปใช้อย่างได้ผล จึงขยายการใช้สื่อมายังนักเรียนปกติในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ปรากฏว่าช่วยให้เด็กปกติเรียนรู้ภาษาไทยได้รวดเร็ว บรรยากาศการเรียนสนุกสนาน สร้างความสุขแก่เด็กในการเรียนภาษาไทยไม่ให้น่าเบื่อเหมือนเมื่อก่อน
ครูสมจิตร เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ได้ศึกษาสภาพปัญหา พบว่าเด็กอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ จึงได้สร้างสื่อสำหรับเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ และนำมาต่อยอดทดลองใช้กับเด็กปกติในชั้น ป.4 พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดี จึงคิดว่าหากนำไปใช้ในการปูพื้นการเรียนรู้ตั้งแต่ชั้น ป. 1 น่าจะช่วยให้เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หมดไป ทำให้เรียนรู้เรื่องอื่นๆได้รวมทั้งเรียนรู้สุขภาวะของตนเองด้วย
"อย่างการอ่านคำศัพท์เราจะให้อ่านทุกวัน ให้เด็กคิดเกมเอาคำศัพท์มาลงที่เกม ได้เล่นเกมอย่างมีความสุข ส่วนเรื่องการอ่านจับใจความคุณครูก็เลือกบทความเกี่ยวกับสุขภาวะเรื่องของสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดีมาให้เด็กอ่าน เรื่องของการเขียนการจินตนาการก็จะนำภาพเกี่ยวกับสุขภาวะที่ดี เช่นเรื่องการออกกำลังกาย ความรักความอบอุ่นในครอบครัวให้เด็กได้เขียนตามจินตนาการโดยใช้ทักษะการเขียนควบคู่ไปด้วย นอกจากได้ความสุขในการเรียนรู้แล้ว เด็กก็จะได้ความรู้จากการอ่าน ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องสุขภาวะที่ดีผ่านงานเขียนของเด็กๆ" ครูสมจิตร ชี้เห็นถึงการเชื่อมโยงการเรียนรู้ภาษาไทยไปสู่เรื่องของสุขภาวะ
นอกจากการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้วทางโรงเรียนยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย เช่น ค่ายนักเขียนน้อย เชิญนักเขียน ในพื้นที่ รวมทั้งครูที่เกษียณแล้วมาเป็นวิทยากรให้ความรู้สร้างประสบการณ์ให้แก่นักเรียน ในขณะที่การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยก็ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเพื่อนครูในพื้นที่สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัทลุง เขต 1 ร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนและนำไปใช้ขยายผลในโรงเรียนอื่นๆ
ทางด้าน ด.ญ.ณัฐชา โชติพานิช นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่ารู้สึกสนุกและได้ความรู้จากการเรียนภาษาไทย แม้จะมีเพื่อนๆที่อ่านไม่ค่อยออกแต่คุณครูได้ช่วยให้การอ่านได้ดีขึ้นและมีความเข้าใจ ได้เรียนการแต่งประโยค การใช้คำ การใช้สุภาษิต การเรียงความ สำหรับเพื่อนที่อ่านไม่ออกก็จะให้ความช่วยเหลือแนะนำฝึกหัดพูด การเรียนรู้จากคำศัพท์ต่างๆ รวมทั้งการเล่นเกมก็ช่วยให้เพื่อนที่อ่านไม่ค่อยออกได้ เพราะต้องรู้คำศัพท์สามารถอ่านและเข้าใจความหมายจึงจะเล่นเกมได้
ผลจากการนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยทุกระดับชั้น ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักเรียน ช่วยให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดวิหารเบิกฯ มีทักษะทั้งการอ่านและเขียนได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเด็กนักเรียนมีความสุขและรู้สึกสนุกในการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ในกลุ่มสาระวิชาอื่นๆ ไปด้วยเช่นกัน.