กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
"ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมนุษย์ไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติได้ ดังนั้นหนทางเดียวที่จะสามารถบรรเทาผลกระทบหรือลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นก็คือ "การเตรียมพร้อม" เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ
บ้านลูโบ๊ะซูลง ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ๆ ประสบปัญหาน้ำท่วมมายาวนาน ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพพื้นที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย จึงทำให้เกิดน้ำท่วมประจำทุกปี ในอดีตน้ำจะหลากมาท่วมขังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็หายไป แต่เมื่อเริ่มมีการพัฒนาถนนหนทางต่างๆ การขยายตัวของชุมชนโดยรอบ ทำให้เกิดการปิดกั้นเส้นทางน้ำตามธรรมชาติจนส่งผลให้ในระยะหลังปัญหาน้ำท่วมได้ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ละครั้งกินระยะเวลานานกว่า 3 เดือน ระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้นจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เสียหาย กระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในชุมชนอย่างรุนแรง
"แผนการจัดการภัยพิบัติบ้านลูโบ๊ะซูลง" ภายใต้ชุด "โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านลูโบ๊ะซูลง" จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี "สภาผู้นำชุมชน" เป็นหัวแรงสำคัญในการนำวิกฤติมาเป็นโอกาส สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสมาชิกในชุมชน พร้อมผสานความร่วมมือภาครัฐและเครือข่ายอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการ วางแนวทางการจัดการปัญหา และรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในชุมชนของตนเอง
นายไซลฮูดิง สาอิ ผู้ใหญ่บ้านและผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าวว่า คำว่าลูโบ๊ะเป็นภาษามลายูแปลว่าที่ลุ่ม ในอดีตช่วงราวเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีน้ำท่วมในพื้นที่ของชุมชน แต่ก็ท่วมไม่นานเพียงแค่ 1 อาทิตย์ก็หายไป แต่เมื่อมีการขยายถนน และการขยายตัวของชุมชนโดยรอบทำให้เส้นทางระบายน้ำตามธรรมชาติถูกปิดกั้น ทำให้หลายปีมานี้บ้านลูโบ๊ะซูลงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก
"เวลาน้ำมาหลายบ้านที่ยกของไม่ทันข้าวของก็เสียหาย เดินทางไปไหนก็ลำบาก ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ พอน้ำท่วมนานวันเข้าก็เริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็น มีสารเคมีปนเปื้อน มีโรคที่เกิดจากน้ำท่วมมากมายตามมา ไม่นับรวมกับปัญหาขยะที่ลอยมาตามน้ำและไปอุดตันตามช่องทางระบายน้ำอีก สภาผู้นำชุมชนของเราก็เลยมาร่วมกันหาหนทางแก้ปัญหา มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังน้ำจากชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำ และมีการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในชุมชนที่ชัดเจน" ผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่าหมู่บ้านลูโบ๊ะซูลงมีทั้งหมด 146 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมากถึง 136 ครัวเรือน บางพื้นที่มีระดับน้ำท่วมสูงถึง 1.7 เมตร จึงได้มีการแบ่งโซนพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่โดยมีแกนนำและผู้รับผิดชอบแต่ละพื้น มีการสำรวจข้อมูลความเสียหาย มีการติดตามและเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมถ้ามีฝนตกหนักผ่านกลุ่ม LINE จิตอาสา ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ สามารถส่งผ่านเข้าไปถึงทุกคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม
นายฮารง เยะแล สมาชิกสภาผู้นำชุมชนและเครือข่ายพื้นที่ต้นน้ำบ้านกะลูแปเหนือ และ นายฆูฮำมัดอามีน ดือราโอะ สมาชิกสภาผู้นำชุมชนและเครือข่ายพื้นที่ปลายน้ำบ้านบาโงมูลง ร่วมกันให้ข้อมูลว่าแม้ทั้งสองชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง แต่ก็เห็นความเดือนร้อนของชุมชนกลางน้ำอย่างบ้านลูโบ๊ะซูลง จึงยินดีและพร้อมที่จะเข้ามาทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันเพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนระดับน้ำ
"สภาผู้นำชุมชนจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ เตรียมความพร้อมของคน เตรียมความพร้อมในการจัดการความช่วยเหลือที่เข้ามาให้กระจายไปถึงผู้ที่เดือดร้อนอย่างเท่าเทียม และมีการนำข้อมูลไปแลกเปลี่ยนในการประชุมของหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่" นายฆูฮำมัดอามีน กล่าว
"วันนี้เราพยายามสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระดับตำบล โดยใช้ศักยภาพที่มีในพื้นที่ ใช้แกนนำจิตอาสา ใช้เครือข่ายการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะเราหยุดฝนที่ตกหรือหยุดน้ำท่วมไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้" นายฮารง กล่าว
ซึ่งผลจากการทำงานของของ "สภาผู้นำชุมชน" ที่เข้มแข็ง และเครือข่ายหมู่บ้านจากต้นน้ำถึงปลายน้ำในการสำรวจและจัดทำข้อมูลการจัดการน้ำของชุมชน ทำให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ของชุมชนแห่งนี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การขุดถนนวางอุโมงขนาดใหญ่ลอดใต้ถนน 4 ช่องทางจราจรเพื่อระบายน้ำ การขุดลอกขยายคลองโคกหม้อเพื่อช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายบุรี และการขุดสร้างอ่างเก็บน้ำแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำก่อนที่จะระบายออกไปสู่คลองโคกหม้อ
นายมะอุสลัน เด็ง ผู้ประสานงานโครงการฯ เล่าว่าการที่สภาผู้นำชุมชนได้มีกลไกและกระบวนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติที่ชัดเจนทำให้ทางเทศบาลและอำเภอได้เห็นถึงสภาพปัญหาน้ำท่วมของหมู่บ้านที่แท้จริง จนทำให้เกิดเป็นโครงการขุดลอกคลองโคกหม้อ เพื่อแก้ปัญหาในการระบายน้ำของชุมชนลงไปสู่แม่น้ำสายบุรี ซึ่งก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งน้ำที่เคยน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 7 วันถึง 2 สัปดาห์ในปีนี้ก็อาจจะลดน้อยลงไปหรือไม่ก็อาจจะไม่มีน้ำท่วมเลยก็ได้ ส่วนความยั่งยืนในการจัดการของชุมชนในด้านการจัดการภัยพิบัติ อันดับแรกจะต้องเกิดขึ้นจากสภาผู้นำชุมชนเป็นลำดับแรก และสองจะเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนชุมชน ซึ่งถ้าหากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในแก้ปัญหาภัยพิบัติได้
"การรอความช่วยเหลือจากคนอื่นมันช้า ความเสียหายมันรุนแรงแรง แต่การทำงานของสภาชุมชนของเรา อย่างน้อยๆ ถ้าชาวบ้านรับรู้เข้าใจ รู้กระบวนการ รู้ตัวก่อนที่น้ำจะมาถึง การทำงานของเราก็ประสบความสำเร็จไปเกินครึ่งแล้ว ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัตินั้นก็ได้นำเอาหลักศาสนาอิสลามที่ได้ระบุถึงเรื่องของการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างให้ชาวบ้านเกิดความรู้ เกิดความตระหนัก มีความเชื่อมั่น และมีส่วนร่วมในการทำงานของเราด้วย" นายมะอุสลัน ระบุ
"ในอดีตชาวบ้านมักจะมองว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องของผู้ใหญ่บ้าน เรื่องของนายก อบต. หรือเรื่องของอำเภอและจังหวัด ที่จะต้องมาแก้ไขปัญหา แต่ในวันนี้คนในชุมชนของเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของเราเอง ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ต้องแก้ไขด้วยตัวเองก่อน ซึ่งถ้าเราจัดการตนเองได้ รัฐก็จะสามารถเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายไซลฮูดิง กล่าวยืนยัน
วันนี้ "บ้านลูโบ๊ะซูหลง" จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ใช้ปัญหามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการสร้างความสามัคคีและการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน และเตรียมที่จะยกระดับไปสู่การเป็นชุมชนจัดการตนเอง โดยคณะทำงานของ "สภาผู้นำชุมชน" มีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติในระดับตำบล และขยายผลไปสู่การจัดตั้งกองทุนด้านภัยพิบัติของชุมชนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาต่างๆ จากภัยธรรมชาติ
โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างชุมชนแห่งนี้ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ เพื่อยกระดับให้บ้านลูโบ๊ะซูลงกลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน.