กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สถาบันอาหาร
สสว. ร่วมมือกับสถาบันอาหาร พัฒนาทักษะและต่อยอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าให้ SME ภายใต้ "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล" ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอางทั่วประเทศ 2,005 ราย คัดสินค้าที่มีศักยภาพมาพัฒนาเชิงลึก 1,000 ผลิตภัณฑ์ เน้นสร้างจุดแข็งด้านดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษา ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดทำรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อปี
นางลักขณา ตั้งจิตนบ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศ ปฏิบัติงานฝ่ายติดตามและประเมินผลคลัสเตอร์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่าสสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล (SME PRODUCT DEVELOPMENT) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอาง เนื่องจากพบว่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ของไทยที่ผลิตโดยผู้ประกอบการ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศยังไม่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์และแพร่หลายเท่าที่ควร ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน รวมถึงอาจเป็นเพราะไม่ได้มีการวิเคราะห์ตลาดก่อน จึงส่งผลต่อการรับรู้ และความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยโครงการฯจะเน้นความสำคัญที่ความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ (Packaging) อายุการเก็บรักษา (Shelf life) และการออกแบบ (Design) ให้มีเอกลักษณ์สามารถผลิตและขายได้ในเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอย่างยั่งยืน
"โดยหลักๆ แล้ว มีเป้าหมายเพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ประกอบการใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอาง ให้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย จนสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยที่สินค้ายังสามารถคงอัตลักษณ์ของถิ่นกำเนิดและมีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งในภาพรวมที่เราได้แน่นอนก็คือเกิดการพัฒนาทักษะและความรู้ของบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ SME โดยกำหนดเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ 2,000 ราย มี 1,000 ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาเชิงลึก สามารถสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อปี"
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวว่า สถาบันอาหารได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ความรู้พื้นฐานด้านมาตรฐานสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์" ให้แก่ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มอาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง ในพื้นที่ 14 จังหวัดทุก
ภูมิภาคทั่วประเทศ ภาคกลาง ได้แก่นนทบุรี สระบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ น่าน พิษณุโลก ภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี สงขลา ยะลา สตูล มีผู้เข้าอบรมจำนวนทั้งสิ้น 2,005 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการอาหาร และ สมุนไพร รวมกันจำนวน 1,780 ราย และผู้ประกอบการเครื่องสำอาง จำนวน 225 ราย
และได้คัดเลือก SME จำนวน 500 รายที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าสู่การพัฒนาเชิงลึก ให้สิทธิ์รายละ 2 ผลิตภัณฑ์ รวม 1,000 ผลิตภัณฑ์ มารับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยเป็นการทำ Workshop จากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมจัดทำข้อมูลรายละเอียดเนื้อหาผลิตภัณฑ์สู่สาธารณะ และเตรียมพร้อมนำออกสู่ตลาด อาทิ เค็มบักนัด อาหารถิ่นซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณในการถนอมอาหาร โดยนำสับปะรดและเนื้อปลาสดมาหั่นชิ้นเล็กๆ เคล้ากับเกลือป่นบรรจุใส่ขวดปิดฝาหม้กจนได้ที่ นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งภายใต้โครงการ ได้มีการพัฒนาเค็มบักนัดทำเป็นหลนอบแห้ง จากจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้เทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ที่เรียกว่าฟรีซดราย (Freeze dry) มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรักษารสชาติ สีและคุณค่าทางโภชนาการ ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบถ้วนมากที่สุดและสามารถกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้เมื่อเติมน้ำ สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้อย่างน้อย 1-2 ปี โดยไม่ต้องเก็บในห้องเย็น สะดวกต่อการขนส่ง และการกระจายสินค้า
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอางเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้สามารถกระจายสินค้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ ขนมข้าวตอกตั้ง ขนมหวานไทยโบราณจากจังหวัดเพชรบุรี มีรสหวานอ่อนๆ หอมมันของมะพร้าวขูดกับข้าวตอกบดหยาบ ผสมน้ำลอยดอกมะลิกับกลิ่นหอมควันเทียน ขนมผูกรัก ขนมท้องถิ่นชื่อแปลกจากภาคใต้จังหวัดสตูล ที่นำแป้งมาห่อไส้ปลาคล้ายปั้นขลิบ แต่จะมีความพิเศษที่ทำให้สะดุดตาด้วยการห่อแป้งเหมือนผูกโบว์ น้ำพริกจิ้งหรีดจากจังหวัดร้อยเอ็ด จากการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกจิ้งหรีด ที่มีรสมัน เผ็ด จัดจ้าน เป็นทางเลือกโปรตีนสูงให้กับลูกค้าเลือกซื้อทดแทนอาหารจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ แชมพูสมุนไพรรากฟักข้าว มีสรรพคุณทำให้ผมดกดำ แก้ปัญหาผมร่วง ลดอาการคันศีรษะ และ เซรั่มไหมไทย จากจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดจากการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งของการฟอกกาวไหม ที่พบว่ามีโปรตีนกรดอะมิโน 18 ชนิด ส่งผลต่อผิวช่วยในการขจัดเซลล์ที่เสื่อม และยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ สมานผิว ขจัดไขมันส่วนเกินของผิว เป็นต้น โดยได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปเปิดตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสช่องทางตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย