กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--เทสโก้ โลตัส
เทสโก้ โลตัส เดินหน้าลดขยะอาหารอย่างต่อเนื่อง ขยายโครงการ "กินได้ไม่ทิ้งกัน" สู่ไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาในกรุงเทพฯ และจังหวัดหลัก เพื่อบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้ผู้ยากไร้
พร้อมเริ่มวัดปริมาณขยะอาหารในธุรกิจ
เทสโก้ โลตัส ประกาศความคืบหน้าในการลดขยะอาหารผ่านโครงการ "กินได้ไม่ทิ้งกัน" ผ่านงานฉายหนังสารคดี WASTED! ของ แอนโธนี บอร์เดน จุดประกายคนไทยในแวดวงอาหารโรงแรมลดการทิ้งขยะอาหาร ร่วมกับ UNEP ,โรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค ,ศศินทร์ฯ และมูลนิธิ SOS โดยปัจจุบันร้านค้าของเทสโก้ โลตัสทั้งหมด 40 สาขาในกรุงเทพมหานครและอีก 12 จังหวัด รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าอีก 5 แห่ง บริจาคอาหารที่ยังรับประทานได้ให้กับองค์กรการกุศลเป็นประจำ และบริจาคอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วเพื่อเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ย นอกจากนั้น เทสโก้ โลตัส ยังได้เริ่มต้นกระบวนการวัดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจ ตามปณิธานของกลุ่มเทสโก้ในการรณรงค์ให้บริษัทในธุรกิจเกี่ยวข้องกับอาหารเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารอย่างโปร่งใส เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันในระยะยาว
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า "เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดขยะอาหารในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 โดยลดการสูญเสียและทิ้งอาหารภายในธุรกิจของเราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งเราประสบความสำเร็จในการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 24 สาขาในกรุงเทพมหานครให้กับองค์กรการกุศลภายในสิ้นปี 2560 หลังจากนั้น เราได้เดินหน้าในการขยายโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันไปสู่สาขาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองต่างๆ วันนี้ เทสโก้ โลตัส 40 สาขารวมถึงศูนย์กระจายสินค้าอีก 5 แห่ง บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดและยังรับประทานได้ สินค้าแตกแพ็คที่ยังมีคุณภาพดี รวมถึงอาหารที่จำหน่ายไม่หมดและไม่สามารถรับประทานได้แล้ว ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อนำไปเป็นมื้ออาหารให้ผู้ยากไร้ ทำเป็นอาหารสัตว์ และผลิตปุ๋ย โดยเราสามารถช่วยให้อาหารกว่า 550,000 กิโลกรัมไม่ต้องถูกทิ้งในกองขยะและสร้างผลกระทบมหาศาลด้านสิ่งแวดล้อม อาหารเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นอาหารกว่า 1,300,000 มื้อให้กับผู้ยากไร้"
"สำหรับสาขาในกรุงเทพฯ เราทำงานกับพันธมิตรหลักคือ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS ประเทศไทย ในการขนส่งอาหารที่จำหน่ายไม่หมดเพื่อนำไปบริจาคทุกวัน นอกจากนั้น เรายังร่วมงานกับมูลนิธิและองค์กรท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ ในการบริจาคทั้งอาหารที่ยังรับประทานได้และไม่สามารถรับประทานได้แล้ว เช่น สาขาในจังหวัดชลบุรีบริจาคผักที่จำหน่ายไม่หมดแต่ไม่อยู่ในสภาพที่รับประทานได้แล้วให้กับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ส่วนในจังหวัดระยอง เราทำงานร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ในการนำผักและผลไม้ที่รับประทานไม่ได้แล้วมาทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ในจังหวัดลำปาง พนักงานเทสโก้ โลตัส เป็นจิตอาสานำอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันไปบริจาคให้กับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดทุกๆ เย็นหลังเลิกงาน ที่นครราชสีมา เราทำงานร่วมกับมูลนิธิพุทธธรรม ฮุก 31 ในการบริจาคอาหารที่ยังรับประทานได้ให้กับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา ในจังหวัดขอนแก่น ผักและผลไม้ที่จำหน่ายไม่หมดและรับประทานไม่ได้ถูกนำไปทำปุ๋ยหมักใช้โดยเกษตรกรบ้านโนนเขวา ซึ่งเทสโก้ โลตัส รับซื้อผักจากเกษตรกรกลุ่มนี้ด้วย"
"ในประเทศไทย ยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารอาหาร องค์กรที่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศและมีศักยภาพในการขนส่งที่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในต่างจังหวัดหลายๆ พื้นที่ รวมถึงร้านค้าเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสที่มีขนาดเล็กและมีอาหารที่จำหน่ายไม่หมดปริมาณน้อยในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าอาหารที่รับประทานได้ไม่ควรถูกทิ้ง และจะเดินหน้าสรรหาวิธีการรวมถึงพันธมิตรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อขยายการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากสาขาอื่นๆ ต่อไป"
สำหรับการจัดฉายหนังสารคดี WASTED! The Story of Food Waste ของ แอนโธนี บอร์เดน เชฟชื่อดังชาวอเมริกัน ที่ร่วมกับเพื่อนเชฟที่มีชื่อเสียงจัดทำเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงวิกฤติปัญหาขยะที่เกิดจากอาหารนั้น เกิดขึ้นโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ผนึกกำลังพันธมิตร ทั้ง เทสโก้ โลตัส ,โรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค ,มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS ประเทศไทย และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากเชฟจากโรงแรมต่างๆ ผู้ประกอบการร้านอาหารชื่อดัง ตลอดจนสตาร์ทอัพที่ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม มากกว่า 300 คนมาร่วมงานและต่างได้แรงบันดาลใจในการลดปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นในธุรกิจของตัวเองกลับไปต่อยอดมากมาย
ภายในงานยังมีอาหารแสนเก๋ หน้าตาดี และรสชาติอร่อย จากวัตถุดิบในโครงการบริจาคอาหารเพื่อการไม่ทิ้งอาหารโดยเปล่าประโยชน์ขององค์กรต่างๆ รวมถึง ผักผลไม้จากเทสโก้ โลตัส โดย แดเนียล บุชเชอร์ (Daniel Bucher) Senior Executive Sous Chef จากโรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค เป็นผู้รังสรรค์เมนูที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ร่วมงาน
แดเนียล บุชเชอร์ กล่าวว่า "สำหรับอาหาร ผักผลไม้ แต่ละอย่าง แท้จริงแล้วกินได้หมดทุกส่วน อย่าคิดว่าหมดอายุแล้วทิ้ง อาหารจะหมดอายุหรือไม่หมดอายุ ผมว่าอยู่ที่สัญชาตญาณของเรา ต้องดม ดู สัมผัส แล้วจะพบว่า ยังมีส่วนที่นำไปใช้ได้ ถึงตรงนี้ก็อยู่ที่เราแล้วล่ะว่าจะนำมันไปทำเป็นเมนูอะไร"
นางสาวสลิลลา กล่าวทิ้งท้ายว่า "เราเชื่อว่า การจะจัดการปัญหาขยะอาหารภายในธุรกิจได้นั้น จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงต้นตอของปัญหาก่อนที่จะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ เทสโก้เป็นค้าปลีกรายแรกในสหราชอาณาจักรที่เผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบโดยอิสระจากองค์กรภายนอกในปี ค.ศ. 2013 จากนั้นเทสโก้ในไอร์แลนด์และยุโรปกลางก็ได้เผยแพร่ข้อมูลขยะอาหารเช่นกัน ในประเทศไทย เราได้ริเริ่มกระบวนการวัดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราแล้วโดยตั้งเป้าหมายที่จะเผยแพร่ข้อมูลในอนาคตอันใกล้"
ข้อมูลเพิ่มเติม
เกี่ยวกับโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันโดยเทสโก้ โลตัส
- โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน เริ่มต้นในปี 2560 โดยเทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่ประกาศเจตนารมณ์เป็นผู้นำในการลดขยะอาหารในประเทศไทย
- ปัจจุบัน ร้านค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 40 สาขาใน 13 จังหวัด ( กรุงเทพมหานคร ระยอง ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต นครราชสีมา อุบลราชธานี จันทบุรี เชียงใหม่ลาพูน ลาปาง เชียงราย และ สตูล ) รวมถึงศูนย์กระจายสินค้า 5 แห่ง บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแป็นประจำ
- อาหารที่จำหน่ายไม่หมดกว่า 550,000 กิโลกรัมไม่ถูกนำไปทิ้งในกองขยะและสร้างมลพิษ
- คำนวณเป็นมื้ออาหารทั้งหมดกว่า 1,300,000 มื้อ บริจาคให้กับผู้ยากไร้
- ศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส ได้บริจาคไข่ไก่ 21,422 ฟอง และข้าวสารแตกแพ็ค 17,970 กิโลกรัม
- เทสโก้ โลตัส เปิดตัวภาพยนตร์สารคดีสั้นชื่อเรื่อง "ขยะอาหาร ความจริงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย รับชมสารคดีได้ที่นี่ https://youtu.be/r8Us6zjz0Xw
โครงการโดยกลุ่มเทสโก้
- ในปี ค.ศ. 2013 เทสโก้เป็นค้าปลีกรายแรกในสหราชอาณาจักรที่เผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบโดยอิสระจากองค์กรภายนอก
- โครงการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด Community Food Connection เริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2016 ในสหราชอาณาจักร จนถึงปัจจุบัน อาหารกว่า 50 ล้านมื้อถูกบริจาคให้กับผู้ยากไร้
- เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Perfectly Imperfect ในสหราชอาณาจักร นำผักและผลไม้ที่รูปร่างไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อปกติมาจำหน่ายให้กับลูกค้าเพื่อลดการเกิดขยะอาหาร ปัจจุบันผักและผลไม้ที่ไม่สวยกว่า 14,230 ตัน ถูกนำมาจำหน่ายแทนการทิ้งให้เปล่าประโยชน์
- เทสโก้ในไอร์แลนด์และยุโรปกลางเผยแพร่ข้อมูลขยะอาหารในปี ค.ศ. 2017
- ในปี ค.ศ. 2018 วันหมดอายุถูกนำออกจากบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้เกือบ 70 ชนิด ช่วยให้ลูกค้าไม่ทิ้งผักและผลไม้ก่อนเวลาอันควร