กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช โชว์ศักยภาพทางพิเศษที่จะเข้าระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ครั้งแรก โดยการโอนสิทธิในการรับรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีให้แก่กองทุน เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันแรกที่กองทุนมีสิทธิในรายได้ ชูสถิติปริมาณรถที่ใช้บริการย้อนหลัง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ รวมถึงรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ด้านผู้บริหารระบุถือเป็นการระดมทุนเพื่อนำมาต่อยอดขยายโครงข่ายทางพิเศษอีก 2 สายทาง ซึ่งนับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของ กทพ. ในรอบ 10 ปี
ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนในปัจจุบัน เป็นทรัพย์สินของ กทพ.ที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันแรกที่กองทุนมีสิทธิในรายได้ดังกล่าว และถือเป็นทรัพย์สินที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทาง โดยทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าวมีระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ และการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และชลบุรี
ทั้งนี้ ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าว มีปริมาณรถยนต์ที่ใช้บริการในช่วงที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปีนับตั้งแต่ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 ถึงปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 369,464 คันต่อวัน สำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และเฉลี่ย 386,557 คันต่อวัน สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยมีรายได้ค่าผ่านทาง 4,672 ล้านบาท สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และ 3,593 ล้านบาท สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561
โดยรายละเอียดของทางพิเศษทั้ง 2 สายทางนั้น ประกอบด้วย ทางพิเศษฉลองรัชมีระยะทาง 28.2 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (บริเวณจตุโชติ) และไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณอาจณรงค์ และทางพิเศษบางนา – อาจณรงค์ ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองทางด้านเหนือของกรุงเทพฯ เข้าสู่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ โดยเป็นทางพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร มีอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งสิ้น 15 หลัง ตลอดแนวเส้นทาง
ทั้งนี้ ทางพิเศษฉลองรัชมีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ยต่อวันสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ 221,925 คัน และมีความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรได้วันละประมาณ 350,000 คัน โดยปริมาณการจราจรบนทางพิเศษฉลองรัชมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปีนับตั้งแต่ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 จนถึงปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.0 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถีมีระยะทาง 55 กิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในทางยกระดับที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นทางพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อปลายทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ช่วงบางนา) และสิ้นสุดที่บริเวณก่อนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี มีอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งสิ้น20 หลังตลอดแนวเส้นทาง มีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ยต่อวันสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ 147,539 คัน เทียบกับความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรที่ 360,000 คันต่อวัน โดยปริมาณการจราจรบนทางพิเศษบูรพาวิถีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ต่อปีนับตั้งแต่ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 จนถึงปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 และมีรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ความสำคัญของทางพิเศษบูรพาวีถีคือเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง อีกทั้งทางพิเศษบูรพาวิถียังได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่จังหวัดระยอง และโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่เป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่ของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนการเติบโตครั้งสำคัญของประเทศไทย
ทั้งนี้ หลังจากที่นำทรัพย์สินเข้าระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF กทพ.ยังคงเป็นผู้ที่ดูแลและบริหารทางพิเศษทั้ง 2 สายทางเช่นเดิม โดย กทพ.จะนำเงินที่ได้จากการโอนสิทธิในรายได้ดังกล่าวไปใช้ขยายโครงการก่อสร้างทางพิเศษ 2 สายทาง ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 เพื่อบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
"การลงทุนขยายทางพิเศษอีก 2 สายทางนั้น ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปีของกทพ. ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศ แบ่งเบาภาระทางการคลังของรัฐบาล ช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้แก่ กทพ. รวมถึงช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อทางพิเศษเพื่อให้บริการกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.สุชาติ กล่าว
คำเตือน
- ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- การลงทุนในหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนนี้ไม่ใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน จึงไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในร่างหนังสือชี้ชวน และความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบก่อนลงทุน และเมื่อมีข้อสงสัยควรสอบถามผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน โดยควรลงทุนเมื่อเห็นว่าการลงทุนในกองทุน TFFIF เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวได้
- ห้ามมิให้นำข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนี้ไปตีพิมพ์เผยแพร่หรือแจกจ่ายให้แก่บุคคลในสหรัฐอเมริกา เอกสารนี้มิใช่การเสนอขายหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นใด หลักทรัพย์ที่ระบุไว้ในเอกสารนี้มิได้มีการจดทะเบียนและจะไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1933 (รวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติม) ("กฎหมาย หลักทรัพย์ของสหรัฐฯ") หรือกฎหมายหลักทรัพย์ในรัฐใด ๆ ของสหรัฐอเมริกา และอาจเสนอและขาย (ก) ในสหรัฐอเมริกา และให้แก่บุคคลอเมริกันนอกสหรัฐอเมริกาเฉพาะที่เป็น "ผู้ซื้อสถาบันที่มีคุณสมบัติ" และ "ผู้ซื้อที่มีคุณสมบัติ" ตามกฎ 144 A หรือข้อยกเว้นอื่น หรือเฉพาะในธุรกรรมที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งการจดทะเบียนตามกฏหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และ (ข) นอกสหรัฐอเมริกา โดยเสนอและขายให้แก่บุคคลที่มิใช่คนสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยกฎ Regulation S ของ กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ผู้ออกหลักทรัพย์ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนส่วนหนึ่งส่วนใดของการเสนอขายในสหรัฐอเมริกา หรือทำการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง มิได้จดและจะไม่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจัดการการลงทุนตามกฎหมายบริษัทจัดการการลงทุนของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1940 (รวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติม)
- ห้ามมิให้นำเอกสารนี้ไปใช้ในการจัดทำบทความเพื่อตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา
- การแจกจ่ายเอกสารนี้ในบางประเทศอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ห้ามมิให้นำเอกสารนี้ไปแจกจ่ายในสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา หรือประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนี้ไม่ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา หรือประเทศญี่ปุ่น