กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
8 ปี มาแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 กับการขับเคลื่อนโครงการ "ทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน" ซึ่ง สมาคมเพื่อนชุมชน ได้ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลได้ เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเจตจำนงของสมาคมเพื่อนชุมชนที่ต้องการดูแลชุมชนแบบ "Beyond CSR" ด้วยความจริงใจ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ และสังคม สู่เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของคนระยองอย่างต่อเนื่องเสมอมา
นายนารินทร์ วงศ์ธนาศิริกุล กรรมการบริหารสมาคมเพื่อนชุมชน ได้พูดถึงความเป็นมาของโครงการ "ทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน" ได้อย่างน่าสนใจว่า สมาคมเพื่อนชุมชน ดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับสังคมมาโดยตลอด ตามกรอบวิสัยทัศน์ "สู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน" ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการ "ทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน" เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดระยองได้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และที่สำคัญได้นำความรู้ที่ได้กลับมาประกอบอาชีพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดระยองตลอดจนประเทศชาติต่อไป เพราะตระหนักเสมอว่า "การให้โอกาสทางการศึกษา คือ การสร้างอนาคตของสังคมที่ยั่งยืนที่สุด"
"โครงการทุนปริญญาตรีฯ เป็นทุนให้เปล่า สำหรับเยาวชนที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี มีจิตอาสา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งความขาดแคลนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการศึกษา โดยให้ต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นปีที่ 1ครอบคลุมทั้งค่าบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต ปีละ 1 ครั้ง จนจบการศึกษา ใน 4 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนสู่โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง และคณะศึกษาศาสตร์/คณะครุศาสตร์ เพื่อจบกลับมาเป็นผู้ให้อนาคตการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดระยองต่อไป" นายนารินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับปีการศึกษา 2561 นี้ มีผู้ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการทุนปริญญาตรีฯ ทั้งสิ้น 40 ทุน ประกอบด้วย ทุนการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี จำนวน 15 ทุน มูลค่าทุนละ 70,000 บาท/ปี รวมเป็นจำนวนเงินตลอดหลักสูตร 4,200,000 บาท ทุนการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี จำนวน 13 ทุน มูลค่าทุนละ 70,000 บาท/ปี รวมเป็นจำนวนเงินตลอดหลักสูตร 3,640,000 บาท และ ทุนการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์/คณะครุศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี จำนวน 12 ทุน มูลค่าทุนละ 56,000 บาท/ปี รวมเป็นจำนวนเงินตลอดหลักสูตร 3,360,000 บาท รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,200,000 บาท ซึ่งทุกปีของพิธีมอบทุนการศึกษาจะมีกิจกรรม Reunion เพื่อสร้างความสามัคคี และให้น้องๆ ทุกรุ่นได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้รุ่นพี่ได้ให้คำปรึกษาแก่น้องๆ ในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย รวมทั้งแนะนำในการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสากับสมาคมเพื่อนชุมชนด้วย
จากการพูดคุยกับนางสาวจิรนนท์ น้อยสงวน ผู้รับทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน รุ่นที่ 3 เล่าว่ารู้จักโครงการนี้จากครูแนะแนวตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย เมื่อสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้ จึงส่งใบสมัครขอรับทุนทันที ปัจจุบันตนเองเรียนจบแล้วและรู้สึกภูมิใจในตัวเองอย่างมากที่สามารถรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับที่ดีจนสามารถรับทุนต่อเนื่องตลอด 4 ปี สำหรับความพิเศษของทุนนี้คือจะต้องทำประโยชน์ให้แก่สังคมควบคู่ไปกับการเรียน โดยตลอดเวลาที่ได้รับทุนได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ มาโดยตลอด เช่น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ร่วมกิจกรรมเพื่อนชุมชนติวเตอร์ เป็นต้น อยากฝากถึงน้องๆ รุ่นต่อไป เมื่อสมาคมฯ ให้ทุนการศึกษาแล้ว อยากให้น้องๆ ตั้งใจเรียน และทำประโยชน์เพื่อสังคมควบคู่ไปด้วย และยิ่งเราได้ให้อะไรแก่สังคมเราจะยิ่งรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
นายธีรภัทร แก่นสาร ได้รับทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน รุ่นที่ 8 กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับทุนนี้ว่า ตนได้ยินคุณครูประกาศชื่อรุ่นพี่ในโรงเรียนที่ได้รับทุนทุกปีๆ ที่หน้าเสาธง จึงอยากได้รับโอกาสบ้าง เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน และอยากแบ่งเบาภาระครอบครัว จึงติดตามเงื่อนไขและการเปิดรับสมัครตั้งแต่ก่อนที่ตนจะขึ้น ม.6 เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็สมัครทุนนี้ทันที การที่เราได้รับทุนนี้ ทำให้เราต้องตระหนักถึงความตั้งใจเรียนเพื่อรักษามาตรฐานการเรียนของเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่สมาคมฯ กำหนดจนจบการศึกษา รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม ได้เจอเพื่อน พี่ น้อง ทำให้รู้สึกว่าเรายังมีอีกหลายคนที่เป็นเพื่อน และอยู่เคียงข้างเรา หากเรียนจบตนอยากกลับมาบรรจุเป็นครูที่จังหวัดระยอง เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนรุ่นต่อไป และคงภูมิใจไม่น้อยเมื่อได้เห็นรุ่นน้องๆ ประสบความสำเร็จ
สมาคมเพื่อนชุมชนตระหนักเสมอว่าการให้การศึกษาเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุด และจะต่อยอดสู่การสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน สิ่งที่สมาคมฯ คาดหวังมาโดยตลอด คือ เมื่อเยาวชนเหล่านี้เรียนจบต้องกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง คือเมื่อได้รับโอกาสแล้วอยากให้กลับมาส่งมอบโอกาสให้คนอื่นด้วย ถ้าสังคมเรามีทั้งคนที่ "ได้โอกาสและให้โอกาส" สังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้น เพื่อ "บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน"