กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ซีพี ออลล์
"ยิ้มเถอะนะหัวใจอย่าได้บึ้ง ยิ้มให้ซึ้งตรึงใจ ใบหน้าหวาน ยิ้มเถอะนะ ยิ้มสู้หมู่ภัยพาลยิ้มชื่นบาน ซึ้งจิตชวนติดใจ… พอเจอหน้ากันให้ยิ้มเข้าไว้"
เทศนาธรรมจาก พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มาบรรยายธรรมในหัวข้อ " สุขในบุญ " ข้อคิดเตือนใจการใช้ชีวิตทุกวันให้เป็นสุข บนเวที "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" หนึ่งในโครงการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ตามนโยบาย "ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน" ของ บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ณ อาคารซีพีทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม ที่จัดบรรยายเป็นประจำทุกวันศุกร์ ให้พนักงานซีพี ออลล์และประชาชนชาวสีลม ได้ร่วมฟังมาต่อเนื่องเป็นปีที่21
หลายคนคงสงสัยว่า " สุขในบุญ " สุขอย่างไร พระปัญญานันทมุนี เล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า จิตของคนไม่อิ่มกับ " บุญดี" (ความดี) บุญ แปลว่า ความดี เป็นชื่อที่ไพเราะมาก ส่วนคำว่า " บุญบาป " หมายถึง ความชั่วความไม่ดีทั้งปวง เป็นจิตที่เศร้าหมอง เช่น คิดกับผู้อื่นในทางไม่ดี การทำบุญดี สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตักบาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การทำบุญดี สามารถจำแนกได้เป็นล้านๆเรื่อง หากเราเจอคนที่ไม่ชอบหน้าเรา ไม่พูดกับเรา ทำให้ไม่สบายใจ ก็ไม่ควรเอาใจใส่ เพราะทำให้จิตเป็นทุกข์
พระปัญญานันทมุนี ยกคำกล่าวของ หลวงพ่อชา สุภัทโทว่า จิตคือจิต อารมณ์คืออารมณ์จิตไม่สงบทุกวันนี้ เพราะจิตมันหลงอารมณ์ เป็นเพราะอารมณ์มาหลอกลวงไปให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ ในความเป็นจริงแล้ว ความดีใจเสียใจนั้นไม่ใช่จิต แต่เป็นอารมณ์ที่มาหลอกลวงจิตเป็นสุขเป็นทุกข์ไปตามอารมณ์ หากจิตรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว จิตก็นิ่งเฉย จึงต้องฝึกจิตให้ฉลาดขึ้น ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ เมื่อจิตสงบ จึงพบกับความสุข
" บุญ " ต้องทำทุกเวลานาที ควรประคองจิตของเราให้มีบุญ คือ ความดี คนดีทำดีง่ายแต่คนดีจะทำชั่วได้ยาก คนดี เวลาอยู่บ้านจะไม่บ่น จิตจะเบิกบาน ดวงตาใสสะอาด มองเห็นสิ่งทั้งปวงเป็นมิตร เป็นเพื่อนกันหมด เป็นชาวพุทธเช่นดังคำกล่าวที่ว่า " ดวงตาเห็นธรรม " คือ เห็นอะไรว่าดีแล้วก็ทำเลย เมื่อเห็นบ้านสกปรกก็ลงมือทำความสะอาดทันที เรียกว่า เห็นอะไรผิดพลาด ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขทันที เรียกว่าทำความดี คนมีบุญ ใบหน้าจะอิ่มละมัยเหมือนพระพุทธรูป เป็นการรักษาดีไว้ให้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม ทำให้อิ่มในความดี
พระพุทธเจ้ากล่าวถึงการทำความดีที่มีสุขอยู่ตลอดเวลาเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 หมายถึงกุศลจิตแห่งการกระทำความดี ทางกาย วาจา ใจ10 ประการ เป็นบุญที่ได้ทำให้เราสุขใจ สุขในบุญ ได้แก่ "ทานมัย" บุญสำเร็จ โดยการให้ทาน คือมีความสุขที่ได้ให้ทาน "ศีลมัย" บุญสำเร็จโดยการรักษาศีล เช่น สมาทานรักษาศีลในวันพระ "ภาวนามัย " บุญสำเร็จด้วยการสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส เช่น ฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด เป็นการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง "อปจายนมัย" บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
"เวยยาวัจจมัย" บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ในช่วงรัชกาลที่ 9 เราจะได้ยินคำว่า "ความพอเพียง" แต่พอมาสมัยรัชกาลที่10 จะได้ยินเสียงคำว่า " จิตอาสา"เป็นการทำความดีด้วยหัวใจ คนไทยมีจิตใจงดงาม ทำในสิ่งที่ดีงาม ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
"ปัตติทานมัย " บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ญาติ ที่ล่วงลับไปแล้ว "ปัตตานุโมทนามัย " บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้วที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับส่วนรวม เรารู้ เราเห็นจึงกล่าวคำว่า "อนุโมทนาบุญ" ซึ่งหลายคนทำอยู่เป็นประจำ " ธัมมัสสวนมัย "บุญสำเร็จจากการฟังพระธรรมแล้วคิดตามอย่างมีสติ จนเกิดปัญญา มีดวงตามองแห่งธรรม " ธัมมเทสนามัย " บุญสำเร็จจากการแสดงพระธรรม ชีวิตนี้ต้องมีบุญเป็นที่ตั้ง ถึงจะมีความสุข ในการฟังธรรมและมีความสุข ในการแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
และ "ทิฏฐุชุกรรม" หมายถึง การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป เพราะร่างกายและจิตใจนี้เป็นของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา ของเราจริงความเห็นตรง เห็นถูก หรือปัญญาเป็นสำคัญ เพราะเกิดเป็นบุญ เป็นกุศล ทำให้บุญประการต่างๆเจริญขึ้นได้
พระปัญญานันทมุนี เล่าให้ฟังว่า คิดแล้วเกิดทุกข์ ทำให้ใจขุ่นหมอง ควรตัดออกไป เพื่อไม่ให้ใจเป็นทุกข์ จิตใจมนุษย์สามารถพบ "สุขในบุญ" ได้ทุกวัน โดยละเว้นจากการทำชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้แจ่มใส ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
สำหรับผู้ที่สนใจข้อคิดดี ๆ แบบนี้ สามารถเข้ารับฟังธรรมบรรยายกับโครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" ได้ที่อาคารซีพี ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 – 13.30 น.โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 0-2071-1901 หรือ www.cpall.co.th