กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
ข้อเข่าใครคิดว่าไม่สำคัญ หากเกิดปัญหาหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่ว่าจากข้อเทียมหลวม ได้รับอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดเชื้อของข้อเข่าเทียมที่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้อีกครั้ง
นพ. วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วข้อเข่าเทียมสามารถใช้งานได้นาน โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ อย่างไรก็ตามบางครั้งข้อเข่าเทียมอาจจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ โดยจะมีอาการแสดงคือ อาการปวด บวม เข่าติด หรือใช้งานในชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบาก การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อเข่าสามารถกลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้ง เรียกว่า Revision Total Knee Replacement เป็นการผ่าตัดข้อเข่าเทียมเพื่อแก้ไขปัญหา คนไข้ที่ผ่าตัดมาไม่นานแล้วเกิดอาการเจ็บ บวม ลงน้ำหนักไม่ได้ หรือหมดอายุการใช้งานของเข่าในกลุ่มคนไข้ที่เคยถูกผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมมาแล้วและเกิดการเสื่อม ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างยากและซับซ้อน ต้องใช้การวางแผนมากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรก รวมถึงต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษ การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมมีได้ทั้งการผ่าตัดแก้ไขบางส่วนหรือการแก้ไขทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและวิธีการรักษา การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมประกอบด้วย 2 สาเหตุหลักใหญ่ๆ คือจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ สาเหตุจากการไม่ติดเชื้ออาจมาจากปัจจัยดังนี้คือ 1.ข้อเข่าเทียมหลวมหรือหมุน วางผิดตำแหน่ง เกิดจากตำแหน่งของข้อเข่าเทียมจากการผ่าตัดครั้งแรกมีปัญหา เช่น ข้อเทียมวางเอียงมากกว่า 3 องศา ทำให้ข้อที่ใส่เสียเร็ว หลวมเร็ว โดยทั่วไปข้อเข่าเทียมจะมีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี แต่หากเกิดการเอียงหรือวางผิดตำแหน่งมากกว่า3 องศา เข่าอาจอยู่ได้ประมาณ 5-10 ปี หรือข้อเทียมหมุน วางไม่ตรงตามเบ้า ไม่หมุนตามองศาที่ถูกต้อง หมุนผิดทั้งด้านบนและล่าง เกิดปัญหาเจ็บเข่า เข่าใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ยังเกิดจาก ข้อเทียมส่วนกระดูกต้นขาหรือข้อเทียมส่วนสะบ้าวางไม่ตรงกับตำแหน่งที่ควรจะเป็น ลูกสะบ้าไม่ตรงร่องกับตำแหน่งของข้อ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ที่มีแนวโน้มความผิดปกติของสะบ้าอยู่แล้ว หรือกลุ่มคนไข้ที่เข่ามีลักษณะเอื้อให้เกิดปัญหาที่ลูกสะบ้า เช่น คนไข้มีเข่ากาง(ขาส่วนล่างกางออก เข่าชิดกัน) หรือตำแหน่งของสะบ้าอยู่สูงกว่าปกติ หากดูจากเอกซเรย์ในมุมพิเศษมักพบว่าลูกสะบ้าอยู่ผิดตำแหน่งโดยมีการเปิดออกหรือเลื่อนหลุด เมื่อคนไข้ลุก ยืน หรือเดิน จะรู้สึกเจ็บมาก เพราะลูกสะบ้าไม่ตรงร่อง ปัญหานี้อาจทำให้คนไข้ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขเร็วไม่ถึง 1 ปี เพราะคนไข้ใช้งานไม่ได้เลย และการผ่าตัดคนไข้ในกลุ่มนี้ต้องใช้ความระมัดระวังสูง 2. ข้อเข่าเทียมสึกหรอ ในกลุ่มคนไข้ที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมตั้งแต่อายุยังน้อย หรือใส่ข้อเทียมมานาน เมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดการสึกหรอของตัวพลาสติกหมอนรองข้อเทียม หรือข้อเทียมที่ยึดกับกระดูกเกิดการหลวมและหลุดออกมา ร่างกายจะขจัดด้วยการสร้างเซลล์ที่เรียกว่า Giant Cell เพื่อเอาสิ่งที่แปลกปลอมออกไปจากบริเวณนั้น โดยเซลล์ดังกล่าวมีคุณสมบัติคือ ทำลายกระดูก ทำลายการยึดของข้อเทียม ทำให้ข้อเทียมตอนแรกที่หนาแน่นแข็งแรง กลับหลวม ข้อเทียมที่แกว่งไปมาจะคว้านกระดูกจนเกิดเป็นรู (Bone Defect) ซึ่งทำให้มีอาการปวดหรือบวมขึ้นได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ข้อเทียมสึกหรอนั้นมีหลายอย่าง เช่น การใช้งานข้อเข่าในกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทกมากๆ อย่างกีฬาเอ็กซ์สตรีม วิ่ง เล่นสกี หรือน้ำหนักตัวที่มากขึ้น 3.ข้อเข่าติด หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรกอาจมีปัญหาเรื่องข้อเข่าติดจนไม่สามารถใช้งานเข่าในชีวิตประจำวันได้ดี หรือเอ็นรอบหัวเข่าได้รับบาดเจ็บฉีกขาด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครั้งแรกไม่สามารถปรับสมดุลของเส้นเอ็นรอบหัวเข่าได้ ทำให้มีอาการข้อเข่าบวม หรือเดินแล้วเข่าทรุด หรือมีพังผืดในข้อเข่า หรือข้อเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมขัดขวางการเหยียดงอเข่า อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม 4.มาตรฐานของวัสดุข้อเข่าเทียม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะใส่ตัวข้อเทียมสวมลงไปในกระดูก โดยส่วนมากจะมีการใช้ซีเมนต์ยึดระหว่างกระดูกและตัวข้อเทียม หากวัสดุที่ใช้ทำข้อเทียมไม่ได้คุณภาพจะทำให้ยึดเกาะกับซีเมนต์ไม่ดีหรือติดได้ไม่ทน ทำให้ข้อเทียมหลวมหลุดง่าย 5.ใส่ข้อเข่าเทียมผิดข้าง จากการผ่าตัดครั้งแรกเกิดความผิดพลาด เอาข้อเทียมข้างซ้ายมาใส่ข้างขวา พบได้น้อยมาก และ 6.กระดูกรอบข้อเข่าเทียมเกิดการหัก มักเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น การล้ม ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของกระดูกที่หัก โดยมากมักต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไข โดยอาจเป็นการยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะภายใน หรือผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมใหม่อีกครั้งในกรณีที่กระดูกที่หักรุนแรงจนทำให้ข้อเข่าเทียมหลวมและไม่ยึดเกาะกับกระดูก
นพ.ศริษฏ์ หงษ์วิไล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเสริมว่าสาเหตุจากการติดเชื้อ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้กับการผ่าตัดทุกชนิด รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วย การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะแรก ภายใน 3 เดือนหลังผ่าตัด ไปจนถึงผ่าตัดผ่านไปหลายปีแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน การติดเชื้อในระยะแรกนั้นสาเหตุมีตั้งแต่ อาจเกิดจากเชื้อโรคระหว่างผ่าตัด ทำให้เกิดการบวม อักเสบ และเป็นหนอง หรือผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือมีภูมิต้านทานต่ำ อีกกลุ่มคือเป็นการติดเชื้อหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียมผ่านไปแล้วหลายปี สาเหตุเกิดจากมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โดนแมวหรือสุนัขกัด เป็นแผลตามเนื้อตามตัว หรือมือที่สกปรกเกาจนเป็นแผลถลอก ฟันผุ ฟันเป็นหนอง เหงือกอักเสบ หูน้ำหนวก หรือหัตถการบางอย่างที่สามารถนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เชื้อโรคเหล่านี้มักจะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณข้อเทียม จากนั้นเชื้อโรคจะเริ่มแบ่งตัวทำให้เกิดฝีหนองและแผลอักเสบ แม้ว่าจะผ่าตัดผ่านไปนานหลายปีแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ หากมีการติดเชื้อเป็นเวลานาน เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายกระดูก ข้อ การยึดของกระดูกและข้อเทียม ทำให้ข้อเทียมหลวม ไม่ยึดติดกับกระดูก ข้อเทียมที่ติดเชื้อแล้วจะไม่สามารถใช้ได้อีก คนไข้จะมีอาการเจ็บ ปวด บวมแดง ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมที่ติดเชื้อมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ติดเชื้อและความรุนแรงของการติดเชื้อ ตั้งแต่การผ่าตัดล้างข้อโดยไม่เปลี่ยนข้อเทียมหากข้อเข่าเทียมยังไม่หลวมหรือไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งของข้อเข่าเทียม การผ่าตัดเอาข้อเข่าเทียมออกและใส่ยาฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นจึงผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมใหม่อีกครั้ง ปัญหาสำคัญอีกสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อ คือ กระดูกแหว่งหายเป็นโพรง ทำให้เสียความแข็งแรงที่จะรับข้อเทียมอันใหม่ หากกระดูกหายไปมากจนไม่สามารถยึดข้อเทียมได้ แพทย์จะใช้วัสดุโลหะทดแทนกระดูกฝังเข้าไป นอกจากกระดูกแล้วยังรวมไปถึงเส้นเอ็นโดยรอบที่อาจถูกทำลายไปได้เช่นกัน การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียมในลักษณะนี้ จึงจำเป็นต้องใช้ข้อเทียมชนิดพิเศษเพื่อมาทดแทนเส้นเอ็นที่หายไป
การติดเชื้อเป็นภาวะที่พบได้และเป็นอันตราย โดยเฉพาะหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบความผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์ ควรป้องกันการติดเชื้อ โดยดูแลไม่ให้เป็นแผล ระมัดระวังไม่ให้สัตว์ข่วนหรือกัด รักษาบริเวณบ้านให้สะอาด ดูแลแผลช่วงหลังผ่าตัดใหม่ไม่ให้โดนน้ำ งดสูบบุหรี่ หากทำฟันควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนทุกครั้งที่ทำฟันเพื่อรับยาปฏิชีวนะป้องกัน รวมถึงคนที่เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมโรค ดูแลสุขภาพให้มีภูมิต้านทานที่แข็งแรง โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมตั้งแต่ครั้งแรก ควรเลือกสถานที่ที่สะอาด ใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐาน ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม และใช้อุปกรณ์เครื่องมือการผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพ ยังได้ยกมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้เป็นไปตาม Knee Replacement Program มาตรฐานเดียวกันกับ Joint Commission International : JCI สหรัฐอเมริกา โดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ ผู้ป่วย ญาติ และแพทย์เป็นทีมเดียวกันมีส่วนในการวางแผน ตัดสินใจเลือกการผ่าตัดรักษาและชนิดของข้อเข่าเทียม รวมถึงการติดตามดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย