กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี คาดธนาคารกลางสหรัฐฯปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกช่วงเดือนธันวาคม ไม่มีผลต่อกระแสเงินไหลออกมากนัก แต่มีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในระบบธนาคารและสถาบันการเงิน ครัวเรือนไทยกว่า 49% หรือ 10 ล้านครัวเรือนเป็นหนี้ 4.9% เป็นหนี้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แรงงานไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ถึง 96-97% (มูลค่าเฉลี่ย 130,000 บาท) โดยเป็นหนี้นอกระบบ 53-54% และ 78-79% เคยผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้นอกระบบมักเอารัดเอาเปรียบ มีการคิดดอกเบี้ยถึง 20-30% ต่อเดือน
12.30 น. 30 ก.ย. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในไตรมาสสี่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี แม้นธนาคารกลางสหรัฐฯปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงเดือนธันวาคม ก็จะไม่มีผลต่อกระแสเงินไหลออกมากนัก ตลาดการเงินไทยยังมีความน่าสนใจในการลงทุน การมีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งก็ส่งผลให้ความมั่นใจของนักลงทุนเพิ่มขึ้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้าหลังจากกระบวนการเจรจาข้อตกลงทางการค้าสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในระบบธนาคารและสถาบันการเงิน จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ครัวเรือนไทยเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้น้อยลง จึงไปก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น ครัวเรือนไทยกว่า 49% หรือ 10 ล้านครัวเรือนเป็นหนี้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ และ ภาคธุรกิจก็มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น
แรงงานไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ถึง 96-97% (มูลค่าเฉลี่ย 130,000 บาท) โดยเป็นหนี้นอกระบบ 53-54% และ 78-79% เคยผิดนัดชำระหนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีกและหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs ขณะนี้ยอดปรับโครงสร้างหนี้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประมาณ 40% ของหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จะกลับมาเป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล แม้นตัวเลขเอ็นพีแอลในระบบยังค่อนข้างต่ำแต่เริ่มมีสัญญาณฟองสบู่
อสังหาริมทรัพย์รวมทั้งหนี้เสียที่อยู่อาศัยและหนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยที่หนี้เสียที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นกลุ่มคนอายุระหว่าง 40-53 ปี (เจนเอ็กซ์)
การก่อหนี้ของครัวเรือนส่วนใหญ่จะใช้ไปเพื่อ การอุปโภคบริโภค การซื้อบ้านและที่ดิน และเพื่อการลงทุนและประกอบอาชีพ การกู้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าการศึกษาบุตร และ ค่ารักษาพยาบาล อีกด้วย
เจ้าหนี้นอกระบบมักเอารัดเอาเปรียบ มีการคิดดอกเบี้ยถึง 20-30% ต่อเดือน และมักคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกในเวลาที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด ทำให้ลูกหนี้ต้องกลายเป็นผู้ที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งเจ้าหนี้นอกระบบยังใช้วิธีการทวงหนี้ที่รุนแรง เช่น การใช้กำลังข่มขู่ หรือทำให้ลูกหนี้อับอายด้วยวิธีอื่น ๆ การเอารัดเอาเปรียบและวิธีการทวงหนี้ที่รุนแรงนี้ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมติดตามมา
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเสนอแนะว่า ต้องมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินและเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นและเปลี่ยนหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ การปล่อยให้ดอกเบี้ยลอยตัวในระบบสถาบันการเงินเพื่อให้การคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความเสี่ยงของลูกหนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบได้ระดับหนึ่ง ส่งเสริมการแข่งขันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบสถาบันการเงินและเข้าถึงบริการการเงินได้ทั่วถึงครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องไม่แข่งขันกันจนเกินพอดีจนเกิดความเสี่ยงต่อระบบ นอกจากนี้ ควรบูรณาการการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินให้เชื่อมโยงกันมากขึ้นและก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับนวัตกรรมทางการเงินที่อาจนำมาสู่ความเสี่ยงของระบบการเงิน วิกฤติสถาบันการเงินหากจะเกิดขึ้นในอนาคต ความอ่อนไหวจะไม่ได้อยู่ที่ระบบธนาคารพาณิชย์ หากจะอยู่ที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์และnon-bank ต่างๆ รวมทั้งการเก็งกำไรในนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เช่น Cryptocurrency