กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ
Nova Contemporary ภูมิใจเสนอ 'Kawita Vatanajyankur' นิทรรศการของศิลปิน กวิตา วัฒนะชยังกูร ที่จัดแสดงนอกขอบเขตของกล่องแกลเลอรี่สีขาวเป็นครั้งแรก นำเสนอผลงานวิดิโอแบบจัดวางเฉพาะพื้นที่จำนวน 4 ชิ้น ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ ในผลงานชุดนี้กวิตา เสาะหาความเป็นไปได้ทางสังคม-วัฒนธรรมและจิตวิทยาของสื่อวิดีโออาร์ต ด้วยกรรมวิธีที่สร้างสรรค์ผสมผสานกับมุมมองแบบจิตรกรรมที่ถูกบันทึกอยู่ในท่าทางอันแสดงถึงความเปราะบางและความเด็ดขาด กวิตานำเสนอสิ่งที่ต่างไปจากงานศิลปะเชิงแนวคิดที่เราคุ้นชิน ซึ่งทั้งปลุกเร้าและน่าประทับใจ ทำให้กวิตาได้กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่น่าจดจำที่สุดของยุคสมัยนี้ ชิ้นงาน The Scale 2 (2015) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่จัดแสดงครั้งนี้ เคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 57 กับ Alamak! project ในนิทรรศการ "Islands In The Stream" อีกด้วย
กวิตาตั้งคำถามกับมุมมองและการให้คุณค่าต่อการใช้แรงงานในชีวิตประจำวัน ทั้งในเชิง จิตวิทยา สังคม และวัฒนธรรม ผลงานของศิลปินพิเคราะห์การกระทำในแต่ละวันที่ซ้ำๆ และต่อเนื่องของเราในฐานะเครื่องมือเพื่อการอยู่รอด เธอศึกษาความสัมพันธ์ของอำนาจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และความเชื่อมโยงที่มีต่อโลกแห่งวัตถุนิยมและทุนนิยมที่กักขังเราอยู่นี้ โดยเธอมักจะใช้ร่างกายของเธอแทนวัตถุ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ ภาพร่างกายที่บิดเบี้ยวและเหนื่อยล้าอันเกือบจะเปลือยเปล่าของเธอนั้น เป็นรูปทรงที่โดดเด่นเมื่อเปรียบกับภาพพื้นหลังสีสด ซึ่งสีสันที่เสมือนภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในผลงานของเธอ
นิทรรศการ Kawita Vatanajyankur แสดงให้เห็นเส้นทางพัฒนาการผลงานศิลปะของกวิตา ในช่วงปี ค.ศ. 2012 ถึง ค.ศ. 2017 ผลงาน The Dustpan (2014) ที่จัดแสดงบริเวณหน้าห้องน้ำนั้น แสดงเรือนร่างของกวิตาซึ่งแขวนห้อยหัวลงกลายเป็นไม้กวาดที่กระโจนเข้าสู่ที่โกยผงทุกๆนาที สื่อถึงความท่วมท้นของงานบ้านที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ส่วนผลงานชิ้น The Scale 2 (2015) ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณบ่อปลาคาร์ฟนั้น กวิตาได้แปรร่างกายของเธอให้กลายเป็นเครื่องชั่งและพยุงน้ำหนักของข้าวสารที่บรรจุในกระด้งแบบพื้นบ้านไทย และในผลงาน Colander (2017) ที่จัดแสดงอยู่หน้าร้านอาหารไทย Spice Market นี้ เราจะเห็นกวิตากลายเป็นตะกร้อลวกเส้นบะหมี่ สื่อถึงภาพของการออกแรงที่เกิดขึ้นในการลงมือผลิตอาหารที่เราบริโภค
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องงานบ้าน ผลงาน Big Fish in a Small Pond (2017) ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณบ่อปลาคาร์ฟ ของปาริชาติ คอร์ท มุ่งหวังที่จะจุดประเด็นสนทนาเกี่ยวกับการเอาเปรียบแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ในวิดีโอชิ้นนี้ ร่างของกวิตาลอยอยู่กลางอากาศ ปากของเธอแขวนติดอยู่กับตะขอเหล็ก แสดงภาพของความเจ็บปวดและไร้พละกำลัง อันเกิดขึ้นมาจากการไม่สามารถหลีกหนีสภาวะการณ์อันเลวร้ายได้
ศิลปินถ่ายทอดธรรมชาติของการมีอยู่ของเราที่คล้ายกับการติดกับ และสื่อถึงความเปราะบางของมนุษย์ ผ่านการนำพาร่างกายของเธอไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ ด้วยการอ้างอิงถึงงานที่ปฏิบัติโดยแรงงานและกรรมกรนี้ กวิตาปรารถนาที่จะแสดงให้เห็นความทุกข์ที่แรงงานต้องตรากตรำเผชิญอย่างไม่ได้รับการช่วยเหลือใดใด การวิเคราะห์สภาวะความเป็นมนุษย์ในสังคมปัจจุบันของศิลปิน ฉุกให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นของ จรรยาบรรณ และภาระรับผิดชอบเพื่อจุดประกายให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่หวังว่าจะนำมาซึ่งความหยั่งรู้และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจากสาธารณชน และเป็นความต้องการของศิลปินที่จะเรียกร้องและขบถต่อความไม่เท่าเทียมกัน
วิธีการที่นำไปสู่การเข้าสมาธิเป็นอีกส่วนสำคัญในผลงานของศิลปิน ผ่านท่วงท่าการทำสมาธิ และความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างความเป็นส่วนตัวและความสาธารณะ ความเจ็บปวดและความสุข กลไกขับเคลื่อนและวิถีแห่งการรู้แจ้งโดยตนเอง การต่อต้านและการยอมรับ ประเด็นทั้งหมดนี้ถูกสำรวจโดยวิธีทางกายภาพ การแขวนลอยและภาพสะท้อนแห่งการกอบกู้อันรุนแรงของศิลปินที่ปรากฎอยู่ในวิดีโอ ทำให้ผลงานของกวิตาเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างไม่สิ้นสุด
นิทรรศการนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม – 18 พฤศจิกายน 2018 เวลา 12.00 – 24.00 น. โดยไม่มีค่าเข้าชม
ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ ถ. ราชดำริ (รถไฟฟ้า BTS สถานีราชดำริ)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่ โทร 090-910-6863 หรือ อีเมล info@novacontemporary.com