กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.10-32.50 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.34 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือนครั้งใหม่ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 161 ล้านบาทแต่ซื้อพันธบัตรไทย 4.7 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 3 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับระดับปิดในไตรมาส 2 ในสัปดาห์ที่แล้ว เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด ส่วนเงินยูโรเผชิญแรงกดดันหลังตลาดกลับมากังวลเกี่ยวกับวินัยด้านการคลังของอิตาลีอีกครั้ง นอกจากนี้ เงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อโลก
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจข้อมูลด้านแรงงานของสหรัฐฯ หลังเฟดส่งสัญญาณว่ายังคงจะคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฟดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม และอีก 3 ครั้งในปี 2562 และอีก 1 ครั้งในปี 2563 เฟดได้ตัดคำว่า "ผ่อนคลาย" ออกจากการบรรยายถึงนโยบายการเงินซึ่งส่งผลให้ตลาดตีความว่า เฟดมองว่าดอกเบี้ยกำลังเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลาง คือ ระดับที่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวว่าการตัดคำว่าผ่อนคลายไม่ได้บ่งชี้ว่าแนวโน้มนโยบายเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ล่าสุดเฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโต 2.5% ในปี 2562 ก่อนจะชะลอตัวลงสู่ 2.0% ในปี 2563 และ 1.8% ในปี 2564 โดยแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์จะค่อยๆ หมดไป นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาประเด็นหนี้สาธารณะของอิตาลีหลังรัฐบาลประชานิยมกำหนดเป้าหมายขาดดุลงบประมาณที่สูงเกินคาดซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งกับสหภาพยุโรปและฉุดค่าเงินยูโรให้อ่อนลง
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายน ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า กำลังศึกษาเป้าหมายอื่น เช่น การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพื่อนำมาเป็นเป้าหมายเพิ่มเติมนอกเหนือจากกรอบเงินเฟ้อ และหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ย จะไม่ใช่ลักษณะปรับขึ้นติดต่อกัน ขณะที่ธปท.ยังไม่กังวลกับส่วนต่างที่กว้างขึ้นระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคแต่ยังคงติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในภาวะเช่นนี้เราคาดว่านักลงทุนจะเพิ่มความระมัดระวัง ขณะที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินเอเชียในปีนี้