กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สวทน.
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ครั้งที่ 2 : กลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ดึงกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ ระดมสมองสร้างภาพอนาคตไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวมอบนโยบายการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) และความเชื่อมโยงกับการจัดตั้งกระทรวงใหม่
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 ซึ่งในส่วนของงานวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ด้วยการรวมงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้าด้วยกัน โดยมีเรื่องการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เป็นวาระสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยนโยบาย หน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวงใหม่ และได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมที่มีการกำหนดเป้าหมายการวิจัยที่ชัดขึ้น โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่เปรียบเสมือนมันสมองของประเทศได้เป็นพลังส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งได้ตั้งเป้าให้ไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ในระยะ 20 ปีข้างหน้า รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัย และในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของประชากร ซึ่งถือเป็นความท้าทายของประเทศไทยอย่างมาก ดังนั้น ช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเราจะต้องมองไปข้างหน้าร่วมกัน และวางรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พยายามขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. เพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน หรือ "วิทย์สร้างคน" การใช้ วทน. เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน หรือ "วิทย์แก้จน" และ วทน. เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ "วิทย์เสริมแกร่ง" และยังมีความก้าวหน้าในการจัดตั้งกระทรวงใหม่ หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงใหม่นี้เปรียบเสมือนมันสมองของประเทศ และจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า หรือ Future Setting โดยมีภารกิจที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และ 2. เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยขณะนี้ พรบ. การจัดตั้งกระทรวงใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จเสนอต่อ สนช. และจัดตั้งกระทรวงใหม่ได้ ในช่วงต้นปี 2562
"วาระสำคัญประการหนึ่งของกระทรวงใหม่ คือการวางแผนการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออนาคต หรือ Investment for the Future ซึ่งเป็นโจทย์สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่จะพาเราไปสู่ระดับแนวหน้าของภูมิภาคหรือของโลกได้ ซึ่งเราจะต้องร่วมกันมองไปข้างหน้าว่าอะไรคือโอกาสที่เราสามารถเริ่มทำในวันนี้ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีบทบาทในการเป็นผู้นำ (Power to Lead) เพื่อให้ประเทศเราก้าวสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้งานในประเทศ และต่อยอดสู่การเป็นผู้นำในระดับแนวหน้าของโลก พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่โลกที่ 1 โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
ด้าน ดร.กาญจนา วานิชกร รักษาการ รองเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้เชิญกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่มาระดมสมองเพื่อจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ที่ท้าทายในลักษณะ Research Mission ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดเป้าหมายการวิจัยเพื่อระดมสมองภายใต้หัวข้อ "การวิจัยเพื่อสนับสนุนภาพอนาคต: คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 100 ปี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี" ซึ่งหัวข้อดังกล่าวเป็นเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศไทย และหลายประเทศ โดยได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.อาหารอนาคต 2.การแพทย์และสาธารณสุข 3.ความมั่นคงทางพลังงาน และ 4.การป้องกันภัยคุกคามและรับมือกับความเสี่ยง/โอกาสในอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นโจทย์วิจัยที่สามารถเริ่มทำได้ในวันนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เป็น Best in Class หรือ First in Class เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในประเทศ และต่อยอดสู่การเป็นผู้นำในระดับแนวหน้าของโลก ตลอดจนสร้างโอกาสในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ (New Discovery) เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างกลไกขับเคลื่อน หรือ Growth engine ในระยะยาวของประเทศ
ทั้งนี้ โจทย์วิจัยขั้นแนวหน้า ควรมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนระดับหนึ่ง สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ หรือสามารถแก้ปัญหาในอนาคตซึ่งเป็นความต้องการของประเทศได้ และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ในระยะยาว (National Security) อีกทั้งสามารถต่อยอดไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) รวมถึงต้องคำนึงว่าหัวข้อวิจัยขั้นแนวหน้าของไทยต้องมีผลกระทบสูงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหัวข้อที่กำหนดควรเป็นเรื่องที่ประเทศมีความเข้มแข็งทางวิชาการเป็นพื้นฐาน หรือมีความพร้อมทั้งด้านองค์กร กำลังคน เครือข่ายวิจัย และมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการวิจัยเพื่อสนับสนุนภาพอนาคต: คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 100 ปี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ มีนักวิจัยทั้งจากภาครัฐ และมหาวิทยาลัยให้ความสนใจร่วมแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก โดยข้อเสนอแนะที่ได้จากนักวิจัยรุ่นใหม่ สวทน. จะนำมารวบรวมกับข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดทำเป็นยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้าเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป