กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--หอการค้าไทย
ที่ประชุม กกร.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ไม่สูงเท่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของปัจจัยฐานเปรียบเทียบที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเติบโตชะลอลง รวมทั้งมูลค่าสินค้านำเข้าที่เร่งตัวขึ้น ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ในขณะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าในเดือนกันยายน จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย
ด้านการท่องเที่ยวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวน 25.89 ล้านคน เติบโต 9.9% (YoY) โดยนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยเติบโต 16.5% (YoY) หรือมีจำนวน 7.73 ล้านคน
ทั้งนี้ สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หดตัวลงทั้งการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งน่าจะมาจากสาเหตุสภาพเศรษฐกิจในจีนที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การที่กรมสรรพากรประกาศให้มี Down Town VAT Refund 3 แห่ง ซึ่งเป็นโครงการทดลองระยะ 6 เดือน (1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562) ภาคเอกชนเห็นว่า จะเพิ่มความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันเป็นผลดีต่อภาพรวมการท่องเที่ยว
ในด้านการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกขยายตัวได้สูง และคาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีน่าจะได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี กกร. จึงปรับเพิ่มกรอบล่างของประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2561 เป็น 8.0-10.0% (จากเดิม 7.0-10.0%)
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยจากการขยายตัวของการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าการเบิกจ่าย รวมทั้งการขยายตัวของ GDP ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ กกร. มองว่า การขยายตัวของ GDP ในปี 2561 นี้ ไม่น่าจะต่ำกว่า 4.4% ดังนั้น กกร. จึงปรับเพิ่มกรอบล่างของประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2561 เป็น 4.4-4.8% (จากเดิม 4.3-4.8%)
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ที่สำคัญยังคงได้แก่ ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มจะยกระดับความรุนแรงขึ้นอีก หลังจากสหรัฐฯ เดินหน้าจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่ม 10% ครอบคลุมมูลค่าสินค้าเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นนี้คงจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในช่วงปี 2562 โดยประเมินในเบื้องต้นว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกประมาณร้อยละ 0.6-0.8 ของ GDP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การค้ากับทั้งสองประเทศยังคงเป็นไปในแนวทางที่ดี โดยเฉพาะกับสหรัฐนั้น ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุม "The New Digital Economy: Creating Thailand-U.S. Commercial Opportunities" เมื่อวันที่ 24 กันยายน และได้มีการลงนาม MOU ระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) MOU เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทย-สหรัฐฯ และ (2) MOU เพื่อส่งเสริมนโยบาย Digital Economy ของประเทศไทย และการส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทย–สหรัฐฯ เพื่อเป็นกรอบการทำงานระหว่างกันในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีและเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ Start up และ SME ซึ่งจะตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ควรจับตามองราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศต่อไป และหากภาครัฐต้องการตรึงราคาน้ำมันให้เหมาะสม ก็ควรพิจารณาการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันอย่างรอบคอบด้วย เพราะขณะนี้มีอยู่จำนวนจำกัด
นอกจากนี้ กกร.สนับสนุนสภาวิชาชีพบัญชีในการจัดทำ Application ในการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้กับ SME ที่มียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาท ให้นำไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SME ได้
กกร.สนับสนุนโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการ อันจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และพัฒนากระบวนการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ
นอกจากนั้น ยังได้มีการสนับสนุนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative:CoST) เป็นมาตรการป้องกันการทุจริตในการก่อสร้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจโดยปัจจุบันมีหน่วยงานเข้าร่วม 147 โครงการและโครงการนำร่องอีก 5 โครงการ(25,822 ล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันทำให้งบประมาณประหยัดได้สูงถึง 6,185 ล้านบาท คิดเป็น 23.95%
โดยสรุปแล้ว กกร. เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ไทยจะยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศมากนัก และคาดว่าจะสามารถรับมือผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจได้