กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
แม้จะมีแหล่งน้ำอยู่รอบชุมชน ทั้ง แม่น้ำมูล หนองจอก บึงบรรจง แต่ชาวบ้านจากตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังประสบปัญหา "น้ำไม่พอใช้" การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น คือการขุดคลองส่งน้ำเล็ก ๆ ไปยังไร่นาของตัวเอง แต่ก็พบว่าน้ำจากคลองส่งน้ำธรรมชาติ กลับส่งไปยังปลายทางไม่ถึง 30 % เพราะบางส่วนซึมลงดิน บางส่วนก็ระเหยไปในอากาศ แนวทางแก้ไขต่อมาคือเมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีมีโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วยชลประทานระบบท่อ ที่บ้านบุ่งมะแลง และชุมชนโดยรอบ ก็ได้รับเลือกให้เข้าในโครงการนี้ เพราะหลายครัวเรือนประสบความเดือดร้อน
กลุ่มเกษตรกรชลประทานระบบท่อตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เกิดขึ้นตามนโยบาย "แก้แล้ง แก้เจ็บ แก้จน" ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2552 หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร เกษตรกรที่เข้าร่วมก็ได้รับการสนับสนุนชลประทานระบบท่อจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้เกษตรกรทำการเกษตรได้ผลผลิตดีขึ้น และสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง นอกจากทำนาแล้วเกษตรกรยังสามารถปลูกพืชหมุนเวียนที่ต้องการน้ำน้อยกว่าข้าว คือ พืชผักสวนครัว ข้าวโพด แตงโม พริก มะเขือ ฟักทอง และถั่วฝักยาว ในช่วงฤดูแล้งบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำน้อยและไม่สามารถปลูกข้าวได้
ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานระบบท่อบุ่งมะแลงมี 5 กลุ่มย่อย ใช้น้ำจาก 3 แหล่งคือ หนอกจอก บึงบรรจง และบุ่งมะแลง โดยพื้นที่บ้านดอนดู่มี 250 ไร่ ใช้น้ำจากหนองจอกเป็นหลัก ทุ่งบักตูมมีเนื้อที่ 200 ไร่ ใช้จากหนองจอกเช่นเดียวกัน ขณะที่บ้านโนนกอยมีเนื้อที่ 100 ไร่ ใช้น้ำจากบ่อน้ำเอกชน ที่จะอนุญาตให้ใช้ได้เป็นบางครั้ง
ครั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานีมีนโนบายแก้แล้ง แก้จน แก้เจ็บ ผ่านโครงการชลประทานระบบท่อ ด้วยการนำท่อและเครื่องสูบน้ำมาสนับสนุนการทำเกษตรของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านชาวบ้านก็เริ่มวางทอ โดยนำร่องที่บ้านทุ่งบักตูม จากนั้นจึงขยายไปพื้นที่อื่น
เมื่อมี "ท่อ" น้ำจึงกระจายไปยังที่นาของชาวบ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หลายครัวเรือนที่ไม่ได้ทำเกษตรเมื่อเห็นว่าน้ำท่าบริบูรณ์จึงลงมาทำนาปลูกข้าวด้วย แต่นั้นไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่ค้นพบหลังร่วมในโครงการวิจัย กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้สามารถบริหารจัดการน้ำชลประทานระบบท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี คือ "การขาดความเข้าใจ" รวมทั้ง "ขาดระบบการจัดการ" ของกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ซึ่งการขาดความรู้ ขาดระบบจัดการ และ ความเข้าใจ นำไปสู่การแย่งน้ำใช้ ส่งผลต่อระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของ ผศ.ดร.วรงศ์ นัยวินิจ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย พบว่าที่บ้านบุ่งมะแลงมีน้ำอย่างเพียงพอ หรือมากพอกับปริมาณครัวเรือน แต่ปัญหาคือ แต่ละครัวเรือนไม่ทราบข้อมูลปริมาณน้ำ และไม่ทราบว่าหากตนเองนำน้ำเข้าแปลงนาในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นจะผลกระทบต่อคนปลายน้ำ หรือ ครัวเรือนข้างเคียงอย่างไร
"เราสร้างความเข้าใจด้วยการใช้เกม เป็นบทบาทสมมุติในการใช้น้ำของแต่ละคน ตอนแรกไม่คิดจะใช้เกม เพราะมันยุ่งยาก และพยายามใช้วิธีการอื่นที่ง่ายกว่า เช่นใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศประกอบคำอธิบายสุดท้ายก็ยังพูดคุยกันในมุมของตัวเอง ไม่ได้แบ่งมุมมองของตัวเองกับคนอื่น ด้วยเหตุผลนี้เราจึงต้องออกแบบเกมมา เป็นเกมการจัดการน้ำ ผมก็สร้างสถานการณ์ที่แตกต่างกัน 4 สถานการณ์ ตั้งแต่สถานการณ์น้ำดีคือมีน้ำใช้อย่างเหลือเฟือ จนกระทั่งน้ำไม่ดี ให้เขาเล่นเป็นตัวของเขาเอง น่าสนใจก็คือ ในเกมก็ยังแย่งน้ำกันใช้ คือเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาผ่านเกม ระหว่างเล่นเราก็มีการพูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน คนท้ายน้ำพอรู้ว่าน้ำมาไม่ถึงตัวเองก็พยายามพูดคุยกันเองภายในกลุ่ม ส่วนคนที่แย่งน้ำเพื่อนประจำ ก็จะเห็นว่า จริง ๆ แล้ว เขาไม่ได้มีความจำเป็นต้องการน้ำมากขนาดนั้น เกิดความเห็นอกเห็นใจกันผ่านเกม เพราะเกมมันเหมือนชีวิตจริง มันทำให้คิดว่าคนเราต้องแบ่งปันกัน อันนี้คือการเปลี่ยนทัศนคติที่ดี และได้ความคิดที่ว่าถ้าเจอสถานการณ์น้ำที่แย่จะทำอย่างไร บางคนบอกว่าให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งจะเป็นกลุ่มโนนกอยที่มีประสบการณ์ตรงนี้ เขาก็จะมาพูดให้ฟัง กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เขาคิดว่าเราต้องมีกฎกติกานะ เราต้องใช้วัฒนธรรมมาจับมากขึ้น สิ่งที่เขาขาดคือเขารู้ในสิ่งที่เขาขาดจากเกมนะ หนึ่งคือการจัดการกลุ่ม เขาไม่มีความรู้ตรงนี้เลย นั่นคือเหตุผลว่าเราอำนวยความสะดวกไปหาคนมาช่วย อันที่สองคือเรื่องพืชใช้น้ำน้อย เขาไม่รู้เพราะเขาไม่เคยปลูกเหมือนกัน ก็มีการร้องขอมา เราก็ไปหาคนมาอบรมเรื่องการจัดการกลุ่มจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเรื่องน้ำน้อยจะเป็นหน้าที่ของเกษตรตำบล"
สำหรับในการด้านการบริหารจัดการน้ำ แม่วันเพ็ญ สุวรรณา อธิบายว่า หลังจากมีการพูดคุยแล้ว ชาวบ้านแต่ละกลุ่ม ได้ร่วมกันสร้างกติกาในการบริหารจัดการน้ำโดยมีหลักการและแนวทางปฏิบัติตามมติที่ประชุม โดย ให้แต่ละกลุ่มไปจัดตั้งคณะกรรมการของตัวเอง พร้อมกับตั้งกติกาการใช้น้ำร่วมกันดังนี้
1.จะจ่ายน้ำให้ 2-3 คน ต่อวัน โดยใช้เส้นทางเดินน้ำทางเดียวกัน
2.เปิดเครื่องเวลา 6.00 น. ถึง 16.00 น.
3.ในกรณีที่มีการขโมยน้ำ จะมีบทลงโทษ ตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา การปรับเป็นเงิน 500 บาท ต่อครั้ง และหากยังฝ่าผืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็ให้ออกจากการเป็นสมาชิก
4.ต้องดำเนินงานฝังท่อให้เรียบร้อย
5.ในขณะที่สูบน้ำ ถ้าไม่ดูแลเครื่องและเกิดความเสียหาย ให้ผู้เป็นเวรวันนั้นต้องรับผิดชอบ
6.หากต้องการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐหรือ เอกชน กลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่ม จะต้องประชุมกันแล้วเขียนเป็นข้อเสนอประกอบรายงานการประชุมเสนอมายังประธานกลุ่มใหญ่ ให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาเพื่อเสนอขอความช่วยเหลือต่อไป