กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ในงานสัมมนาประจำปี 2561 ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ฟิทช์กล่าวว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยและภาคธนาคารไทยน่าจะสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ แม้ว่าสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้
ในงานสัมมนาดังกล่าว ฟิทช์ได้รับเกียรติจาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนา
คุณเจมส์ แมคคอร์แมค หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศ ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับ 3.3% ในปี 2561 และ 3.1% ในปี 2562 โดยมีแรงหนุนจากการเติบโตในระดับที่สูงกว่าปกติของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว (fiscal expansion) และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังคงแข็งแกร่งแม้ต้องเผชิญกับสงครามทางการค้าอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากภาวะตลาดการเงินโลกที่ตึงตัวมากขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงปริมาณ (qualitative easing) ของธนาคารกลางยุโรปที่จะสิ้นสุดลง และการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในตลาดโลกน่าจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศในระดับสูงและมีกรอบการดำเนินนโยบายที่อ่อนแอกว่า อย่างไรก็ตามประเทศไทยน่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจโลกดังกล่าวได้ เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและการรักษาฐานะทางการคลังให้อยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจที่พึงพิงการค้าระหว่างประเทศ (open economies) ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2562 ปรับตัวลดลง
คุณพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าภาคการธนาคารของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ส่วนใหญ่น่าจะสามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ ในกรณีที่การปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการส่งสัญญาณล่วงหน้าอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามปัจจัยหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินในระดับสูงหรือมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ค่อนข้างอ่อนแอ เช่นในประเทศเวียดนาม มองโกเลีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง ในกรณีที่ตลาดเงินตลาดทุนเกิดภาวะชะงักงันจากความวิตกกังวลในตลาด (stressed scenario) อย่างไรก็ตามภาคการธนาคารของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานและกฎเกณฑ์การกำกับดูแล โดยเฉพาะภาคการธนาคารของไทยนั้น น่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ได้มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ และภาคการธนาคารไทยยังมีกันชนที่เข้มแข็งในด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง
ต่อจากนั้นในเวทีเสวนาผู้บริหารระดับสูงมีการอภิปรายในหัวข้อโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุนในอาเซียน (ASEAN) โดยมีคุณวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในประเด็นเรื่องบทบาทและนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure investment) ในอาเซียน และความท้าทายและโอกาสสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ คุณธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง คุณเฮเลน ฮาน เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) และ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
งานสัมมนาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานของรัฐ นักลงทุน และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและภาคการเงิน เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน