บีโอไอรุก ดึงลงทุนจากจีน ขยายฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไทย

ข่าวทั่วไป Friday April 22, 2005 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--บีโอไอ
บีโอไอใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก ตั้งเป้าดึงการลงทุนจากจีนเพิ่ม 30% พร้อมปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของจีน ขณะที่เอกชนเสนอ ตั้งศูนย์ข้อมูลให้กับนักลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในการสัมมนา “การพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนไทย-จีน” ซึ่งบีโอไอ และคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมกันจัดขึ้นวานนี้ (20 เมษายน 2548) ว่า จีนเป็นประเทศที่ยังคงมีความสำคัญในการชักจูงการลงทุน และในปี 2548 บีโอไอได้ตั้งเป้าหมายชักจูงการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นจากปี 2547 อีก 30% โดยจากสิถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของของบีโอไอ การลงทุนของจีนในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน มีทั้งสิ้น จำนวน 138 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 30,506 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งบีโอไอได้วางแผนงานเชิงรุกเพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทย-จีน อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกันยายน บีโอไอมีกำหนดนำคณะนักธุรกิจไทยไปศึกษาโอกาสการลงทุนในมณฑลเสฉวน , มหานครฉงชิ่ง (จุงกิง) ,มณฑลยูนนาน และมณฑลฟูเจี้ยน และในต้นเดือนกรกฎาคม จะจัดการสัมมนาเฉลิมฉลองวาระครบรอบความสัมพันธ์ไทย-จีน 30 ปีที่กรุงปักกิ่ง โดยได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ
“ลู่ทางการค้าและการลงทุนของจีนในไทย และการลงทุนไทยในจีนนั้น ยังมีโอกาสอีกมาก แต่นักลงทุนต้องพิจารณาความเหมาะสมและศักยภาพของแต่ละมณฑลของจีนด้วย โดยปัจจุบันนักลงทุนจีนหันมาลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก นอกจากนี้จีนยังเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น หากจีนมีการลงทุนในภูมิภาคนี้จะพิจารณาประเทศไทยเป็นอันดับแรก” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
ด้าน Mr.Guo Tiezsi ผู้ช่วยทูตพาณิชย์จีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังประเทศจีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายการค้าการลงทุนตามคำมั่นที่ให้ไว้กับ WTO รวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลด้านบวกกับนักลงทุนต่างชาติ คือ จีนได้ขยายขอบเขตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น เช่น สถาบันทางการเงิน การดำเนินธุรกรรมทางการเงินของต่างชาติในประเทศจีน และการขยายพื้นที่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ส่วนนโยบายควบคุมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดและกฎหมายการจัดสรรที่ดิน ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อการลงทุนของต่างชาตินั้น รัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวเร็วเกินไป อีกทั้งเพื่อคงความมีเสถียรภาพทางการลงทุนที่มีอยู่เดิมให้เป็นไปอย่างยั่งยืนด้วย
ขณะที่ นายชัชวาล ศรีวชิราวัฒน์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนในจีนจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลด้านกฎหมายต่างๆอย่างละเอียด เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ ศุลกากร ประกันภัยการจัดสรรที่ดิน รวมทั้ง ต้องศึกษาภาวะการค้าการลงทุนในแต่ละมณฑลซึ่งมีความแตกต่างกัน หากต้องการเพิ่มศักยภาพของนักลงทุนทางบีโอไอ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับการลงทุนระหว่างไทย-จีน เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือนักลงทุนด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองตลาดเพื่อการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกระทรวงอุตสาหกรรม
555 ถ.วิภาวดีรังสิต จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 0 2537- 8111 , 0 2537- 8155--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ